EXIM BANK สนับสนุนสินเชื่อนวัตกรรมดอกเบี้ยต่ำ จัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาบอร์ดต้นแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งแรกของไทย และปรับปรุงระบบการผลิตภายใต้แผนคลัสเตอร์หุ่นยนต์

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 18, 2017 17:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--EXIM BANK EXIM BANK สนับสนุนสินเชื่อนวัตกรรม ดอกเบี้ยต่ำ ภายใต้ความร่วมมือกับ สวทช. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยสนับสนุนโครงการพัฒนาบอร์ดต้นแบบอิเล็กทรอนิกส์เอกชนแห่งแรกของไทย ดำเนินการโดยบริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 40.25 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงระบบการผลิตภายใต้แผนคลัสเตอร์หุ่นยนต์ของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 7 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท เควี อีเลคทรอนิคส์ จำกัด นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมสำหรับภาคเอกชน EXIM BANK ได้สนับสนุนสินเชื่อนวัตกรรม ดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่บริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 40.25 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดตั้งห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยพัฒนาบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งรองรับการวิจัย ค้นคว้า และพัฒนาที่ครบวงจรสำหรับนักวิจัยและบริษัทเอกชนด้วยทีมงานวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของบริษัท พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย ช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการสั่งผลิตต้นแบบมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ EXIM BANK ให้เงินกู้แก่บริษัท เควี อีเลคทรอนิคส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็กและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จำนวน 7 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Transformer) และขดลวดเหนี่ยวนำ (Coil) ด้วยระบบอัตโนมัติและแขนกลอุตสาหกรรม ทั้งนี้ บริษัทเป็น 1 ใน 5 บริษัทนำร่องปรับปรุงระบบการผลิตภายใต้แผนคลัสเตอร์หุ่นยนต์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นต้นแบบ SMEs เพื่อต่อยอดและประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงสายการผลิต ตามกลยุทธ์อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีในกลุ่มอุตสาหกรรม 3.0 และเป็นพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ต่อไป "EXIM BANK ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของธุรกิจส่งออก เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทยแข่งขันได้มากขึ้น มีต้นทุนที่ลดลง กระบวนการผลิตล้ำสมัยขึ้น และทำให้สินค้าไทยมีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและขยายส่วนแบ่งตลาดได้อย่างยั่งยืน" นายพิศิษฐ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ