กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าติวเข้มนักศึกษาสู่เส้นทางนักออกแบบมืออาชีพเชิงสร้างสรรค์ ในพื้นที่ภาคเหนือรองรับอุตสาหกรรม 4.0

ข่าวทั่วไป Friday January 20, 2017 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เร่งสานต่อนโยบายรัฐ พัฒนานักศึกษาด้านออกแบบปี3 และ ปี 4 ในพื้นที่ภาคเหนือ จัดอบรมการออกแบบสร้างสรรค์-ทันเทรนด์โลก หลักสูตรใหม่ ปูเส้นทาง Start Up และมุ่งสู่นักออกแบบเชิงสร้างสรรค์รองรับอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมเปิดโอกาสนำเสนอผลงานชิงเงินรางวัลรวมกว่า 150,000 บาท นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวถึง วัตถุประสงค์ของการจัด กิจกรรมการพัฒนาออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา (Fashion Smart Start Up 2016 : F2S) Creative Designers Creation ภายใต้โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ SMEs สู่ตลาดโลก (Global Reach) นี้ เพื่อร่วมส่งเสริมผลักดันให้เกิดบุคลากรในสายอุตสาหกรรมออกแบบ – แฟชั่น (สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย เครื่องหนังและรองเท้า เครื่องประดับ) สู่เส้นทางนักออกแบบมืออาชีพ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในด้านการสร้าง SMEs กลุ่ม Global Reach Start Up ให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการออกแบบ Design Driven Economy รองรับอุตสาหกรรม 4.0 โดยสร้างศักยภาพให้เกิดการเพิ่มพูนความรู้ทักษะตั้งแต่เรื่องของแนวโน้มการออกแบบ การคัดเลือกวัตถุดิบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนการสื่อสารทางการตลาดที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและการนำเสนอผลงานการออกแบบ เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการก้าวกระโดดไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และพัฒนาต่อเนื่องจนสามารถแข่งขันในระดับอาเซียน (ASEAN) ได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยกิจกรรมนี้ได้พัฒนาหลักสูตรใหม่เพื่อเติมเต็มจากหลักสูตรเดิมในห้องเรียน ประกอบไปด้วยหลักสูตร การสร้างทักษะและปรับวิธีคิดอย่างเป็นระบบทั้งวงจรผลิตภัณฑ์ การสร้างอัตลักษณ์ ซึ่งตัวโครงการจะให้ความสำคัญในแนวคิดหลักเรื่อง ทุนทางวัฒนธรรม ที่ส่งเสริมให้นักออกแบบมองเห็นคุณค่าของท้องถิ่น วัฒนธรรมประจำภาค โดยนำมาผสมผสานกับไอเดียสร้างสรรค์ เทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นภายใต้กลิ่นอายแห่งความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนให้คนทั่วโลกได้เห็น พร้อมหลักสูตรวิเคราะห์ต้นทุน และการสร้างโอกาสทางการตลาด โดยตั้งเป้าหมายพัฒนานักศึกษาด้านการออกแบบระดับปี 3 และปี 4 ทั่วประเทศรวมทั้งหมด 1,000 คนและได้ลงพื้นที่อบรมแล้วรวม 694 คน สำหรับการอบรมในครั้งนี้ ใช้พื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เชิญสถาบันการศึกษาที่สอนด้านการออกแบบเข้าร่วม ประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม? มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล?านนา พร้อมร่วมลงนามความร่วมมือโดยมีสาระสำคัญเพื่อพัฒนาศักยภาพ เชื่อมโยง ส่งเสริม และขยายผลองค์ความรู้สู่การศึกษาด้านออกแบบ สำหรับพื้นที่ภาคเหนือถือเป็นเมืองหัตถกรรมที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค จากการเข้าร่วมอบรมดังกล่าว นักศึกษาจะได้องค์ความรู้จากการใช้แนวคิดใหม่ ๆ ในการออกแบบ โดยเฉพาะการคิดรอบด้าน เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเป็นไปได้ คือ มีแนวคิดการสร้างแบรนด์ จากแรงบันดาลใจ การใช้เทรนด์ ความเป็นไปได้ทางการตลาด และราคาที่แข่งขันได้ นำเสนอผ่านบอร์ดแสดงผลงาน อย่างน้อยคนละ 1 ผลงาน และเปิดโอกาสให้ทุกผลงานเข้าร่วมประกวดชิงรางวัลเงินสดกว่า 150,000 บาท ซึ่งในรอบแรกจะคัดเลือก 150 คน จากนักศึกษาที่ผ่านการอบรมทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอแฟ้มสะสมผลงานการออกแบบ (Portfolio) ต่อหน้าคณะกรรมการ โดยผู้ผ่านเข้ารอบทั้ง 150 คน จะได้รับประกาศนียบัตร จากนั้นคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจำนวน 50 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานภายในประเทศเป็นเวลา 2 วัน และทำการคัดเลือกต่อเพื่อเฟ้นหาผลงานชนะเลิศ โดยรางวัลประกอบไปด้วย รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล รางวัลละ 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล รางวัลละ 30,000 บาท รางวัลชมเชย 2 รางวัล รางวัลละ 15,000 บาท โดยท้ายที่สุด แฟ้มสะสมผลงานจาก 50 ผู้เข้ารอบจะได้จัดแสดงเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป กิจกรรมการพัฒนาออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา ถือเป็นการปลูกต้นกล้าที่จะกลายเป็นบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมออกแบบแฟชั่นที่มีศักยภาพนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายในอนาคตอันใกล้ตามแนวนโยบายภาครัฐที่วางแผนและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทุกประเภท (Hub of ASEAN Industrial) และด้วยขีดความสามารถของบุคลากรที่มีคุณภาพ ผลักดันให้ไทยเป็นเมืองแฟชั่นของภูมิภาคนี้และในระดับสากลได้ในระยะอันใกล้ ทั้งนี้ จากภาพรวมด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมแฟชั่น (สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย เครื่องหนังและรองเท้า เครื่องประดับ และอุปกรณ์ตกแต่ง) เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศที่สร้างรายได้และการจ้างแรงงานมากกว่า 2.0 ล้านคน มีมูลค่าการส่งออกในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 600,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่อง-หนังและรองเท้าประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และเวียดนาม และมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง เป็นตลาดส่งออกสำคัญ สนใจข้อมูลโครงการติดต่อ Call Center โทร 09 3263 6111 หรือติดตามเฟสบุ๊กแฟนเพจ Fashion Smart Start Up 2016 หรือเข้าไปที่เว็ปไซต์ www.thaitextile.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ