บกปภ.ช.ประชุมคอนเฟอเรนซ์ติดตามอุทกภัยภาคใต้ เตือน 10 จังหวัดเตรียมรับมือฝนตกหนัก 24 – 25 ม.ค.60 เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 25, 2017 00:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทยประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส พร้อมแจ้งเตือน 10 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 24 - 25 มกราคม 2560 รวมถึงกำชับจังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน โดยด้านที่อยู่อาศัย ให้ประสานซ่อมแซมบ้านเรือนเพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับไปอาศัยอยู่ที่บ้านได้ตามปกติโดยเร็ว ด้านการเกษตร ให้เร่งสำรวจและจ่ายเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน รวมถึงส่งเสริมการจ้างงานและอาชีพระยะสั้น ด้านคมนาคมและระบบสาธารณูปโภค ให้เร่งซ่อมแซม เพื่อเปิดใช้งานได้ตามปกติทุกพื้นที่ นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) 14 ส่วนงานเข้าร่วมประชุมฯ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมคลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 35 อำเภอ 200 ตำบล 1,113 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 108,847 ครัวเรือน 368,053 คน ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 24 - 25 มกราคม 2560 จะมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง บกปภ.ช. จึงได้แจ้งเตือน 10 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ชาวเรือควรระมัดระวังการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช. เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการให้ บกปภ.ช. ประสานจังหวัดให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านชีวิต ผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยทุกรายต้องได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าจัดการศพโดยเร็วในทันทีที่ตรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นการเสียชีวิตจากอุทกภัย โดยผู้เสียชีวิตแต่ละรายจะได้รับเงินสงเคราะห์ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท หากผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้รับเงินสงเคราะห์ ไม่ต่ำกว่า 125,000 บาท ในส่วนของที่อยู่อาศัย ถือเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะดูแลผู้ประสบภัยให้สามารถกลับไปอาศัยอยู่ที่บ้านได้ตามปกติโดยเร็ว ซึ่งจากการสำรวจในเบื้องต้น มีบ้านเรือนเสียหาย รวม 9,849 หลัง แบ่งเป็น เสียหายทั้งหลัง 272 หลัง และเสียหายบางส่วน 9,577 หลัง โดยบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในเขตที่ดิน ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการช่วยเหลือเป็นลำดับแรก กรณีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลังจ่ายเงินชดเชยไม่เกิน 33,000 บาท บ้านเสียหายบางส่วนเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินหลังละ 33,000 บาท รวมถึงรัฐบาลได้นำแบบแปลนบ้านของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างไม่มากและใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น แยกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบบ้านชั้นเดียวใต้ถุนโล่ง ราคา 280,000 บาท และแบบบ้านสองชั้น ราคา 320,000 บาท เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการก่อสร้างบ้านใหม่ที่ภาครัฐสนับสนุนการช่วยเหลือ ด้านที่อยู่อาศัยแก่ผู้ประสบภัย สำหรับด้านการเกษตร แยกเป็น พืชไร่ พืชสวน ประมง ปศุสัตว์ และกระชังปลา จากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 1,102,302 ไร่ ซึ่งได้เร่งรัดให้ดำเนินการสำรวจตามหลักเกณฑ์ และจ่ายเงินเยียวยาแก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด หากพื้นที่การเกษตรเสียหายโดยสิ้นเชิงและต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ส่งเสริมการจ้างงาน และอาชีพระยะสั้นตามความเหมาะสม เพื่อให้มีรายได้ในช่วงที่ไม่มีผลผลิตทางการเกษตร ในส่วนด้านคมนาคม จากการสำรวจ มีถนนเสียหาย 4,314 จุด คอสะพาน 348 แห่ง ในเบื้องต้นรัฐบาลได้มอบหมายให้เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานหลัก ส่วนแผนการแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งเน้นการป้องกันเชิงโครงสร้าง อาทิ การปรับปรุงจุดรับน้ำ ระบบระบายน้ำ การแก้ไขปัญหาถนนกีดขวางทางน้ำ การวางท่อระบายน้ำลอดใต้ถนน (Block Convert) หรือการเสริมผิวจราจรบนเส้นทางที่น้ำท่วมซ้ำซากให้จังหวัดสำรวจความเสียหายในภาพรวมและเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานรับผิดชอบหลักในแต่ละภารกิจ ด้านระบบสาธารณูปโภค ให้เร่งซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ระบบประปา เพื่อสามารถใช้งานและเปิดบริการได้ตามปกติทุกพื้นที่ โดยเฉพาะระบบประปาที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน ด้วยการนำรถผลิตน้ำดื่มและรถส่งน้ำแบบเคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชน นอกจากนี้ บกปภ.ช.ได้ขอยกเว้นการปฏิบัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนอกเขต ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสามารถสนับสนุนการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ