ปภ.ประสาน 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก เตรียมรับมือฝนตกเพิ่มขึ้น ฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 10 – 16 ก.พ. 60

ข่าวทั่วไป Friday February 10, 2017 11:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออกเตรียมพร้อมรับมือฝนตกเพิ่มขึ้น ฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมแรงซัดเข้าฝั่งในช่วงวันที่ 10 – 16 กุมภาพันธ์ 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 10 – 16 กุมภาพันธ์ 2560 คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 3 เมตร อีกทั้งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงคลื่นลมแรงซัดเข้าฝั่ง โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน ริมชายฝั่งทะเล พื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัด และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงประสานหน่วยทหาร เครือข่ายอาสาสมัครทุกภาคส่วนจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ชุดเผชิญเหตุ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ชุดหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย ชุดกู้ชีพกู้ภัยทางน้ำและทางทะเล เตรียมพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด แผนปฏิบัติการ และแผนเผชิญเหตุของอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงพิจารณาอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและเตรียมพร้อมศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้ประสบภัย สำหรับผู้ประกอบการทางน้ำและชาวประมง ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เนื่องจากทะเลมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะ 5 - 6 วันนี้ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ