กัญชง พืชเศรษฐกิจที่ต้องพัฒนาเพื่ออนาคต

ข่าวทั่วไป Wednesday February 15, 2017 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--ป.ป.ส. สำนักงาน ป.ป.ส. เผยความคืบหน้า กรณีส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เนื่องจากกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ ของกระทรวงสาธารณสุขประกาศแล้วและจะมีผลบังคับนับจากนี้อีก 360 วัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุญาตให้ปลูกกัญชงเพื่อแปรรูปเป็นเส้นใย ผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม กระดาษ ผลิตภัณฑ์อาหารในครัวเรือน และในอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจเปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์จากกัญชงได้มากขึ้นนอกเหนือจากการใช้ประโยชน์จากเส้นใย ไม่ว่าจะเป็นการนำเมล็ดมาใช้เป็นอาหารของคนและนก ยารักษาโรค เครื่องสำอาง รวมไปถึงชาเพื่อสุขภาพ ความแตกต่างของกัญชงและกัญชา ได้แก่ สารสำคัญในกัญชาและกัญชงหลักๆ มี 3 ชนิด คือ Tetrahydrocannabinol (THC), Cannabinol (CBN) และ Cannabidiol (CBD) ซึ่ง THC เป็นสารเสพติด โดยในกัญชงจะมีสาร THC ต่ำมาก แต่ในขณะที่กัญชาจะมีสาร THC สูง มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการตื่นเต้น ช่างพูด หัวเราะตลอดเวลา หากเสพต่อเนื่องทำให้มีอาการเสพติดได้ และส่งผลอันตรายต่อร่างกาย ลักษณะภายนอกของลำต้น กิ่งก้าน และใบ ก็แตกต่างกัน กัญชงจะมีลำต้นสูงเรียว ลำต้นหักง่าย ส่วนกัญชาลำต้นเป็นพุ่มเตี้ยกว่ากัญชง ในส่วนของยอด-ช่อดอก กัญชงจะมีลักษณะช่อดอกสั้นกว่ากัญชา มีจำนวนช่อดอกน้อยและมียางน้อยกว่ากัญชา ใบกัญชงมีลักษณะรูปทรงอ้วน แยกเป็นแฉกประมาณ 7-11 แฉก มีสีเขียวอมเหลือง แตกต่างกับใบกัญชาจะมีลักษณะเรียว ยาว ใบแยกเป็นแฉกประมาณ 5-7 แฉก สีเขียวถึงเขียวจัด ปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนให้มีการส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ภายใต้การกำหนดระบบการควบคุมที่เหมาะสม โดยอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐ (หมายถึง ราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐตามกฎหมาย) ทดลองปลูกเพื่อการวิจัยในด้านเมล็ดพันธุ์ ส่งเสริมการปลูกพัฒนากระบวนการแปรรูปเป็นเส้นใย และผลิตภัณฑ์จากเส้นใย เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากพืชเสพติดให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์และรายได้ให้กับประเทศต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ