กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกต่อเนื่อง เน้นย้ำหากเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกและหมั่นล้างมือบ่อยๆ

ข่าวทั่วไป Thursday February 16, 2017 14:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--คูเปอร์ครีเอชั่น กรมควบคุมโรค ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกต่อเนื่อง หลังพบการระบาดของโรคในหลายประเทศทั่วโลก แนะผู้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกรวมทั้งนกธรรมชาติ และหมั่นล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ พร้อมสั่งการหน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมรับมือการระบาดและเร่งดำเนินการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น หากมีผู้ป่วยสงสัยให้สอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจเพื่อหาสาเหตุต่อไป วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2560) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีสื่อมวลชนรายงานข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H7N9 ในตลาดขายเป็ดไก่ท้องถิ่นที่กวางเจา ทางตอนใต้ของประเทศจีน นั้น กรมควบคุมโรค ได้ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์องค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่กวางเจาไม่มีรายงานพบไข้หวัดนก H7N9ในสัตว์ปีก ส่วนในคนล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานว่าประเทศไทยไม่ได้มีการนำเข้าสัตว์ปีกจากประเทศจีน นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ผ่านผู้เดินทางที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด ผ่านทางนกอพยพ และผ่านทางการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกทั้งบริเวณแนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านและภายในประเทศ เช่น ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก (สายพันธุ์ H5N1) รายสุดท้ายในปี 2549 จากนั้นยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกเพิ่มอีก สำหรับสายพันธุ์อื่นๆที่พบในต่างประเทศตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆนั้น ยังไม่เคยมีรายงานพบในประเทศไทยมาก่อน นอกจากนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้รายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 พบผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2556 - 8 ก.พ. 2560 จำนวน 1,115 ราย เสียชีวิต 379 ราย ซึ่งการระบาดยังคงจำกัดอยู่ในประเทศจีนและเขตบริหารพิเศษ ไม่พบการระบาดในประเทศอื่น ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ไม่มีมาตรการห้ามการเดินทางท่องเที่ยวหรือค้าขายในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ดังนั้น สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปยังตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ฟาร์มสัตว์ปีก โรงฆ่าสัตว์ โรงชำแหละ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก ควรล้างมือบ่อยครั้งด้วยสบู่และน้ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่ปรุงไม่สุก และหากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ภายในช่วง 14 วัน หลังกลับมาจากพื้นที่ดังกล่าว ควรสวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางและประวัติสัมผัสโรค สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคของไทย เน้นการกำจัดสัตว์ปีกตายที่ถูกต้อง หากจำเป็นให้สวมถุงมือก่อนสัมผัส ไม่นำสัตว์ปีกป่วยตายมารับประทาน บริโภคอาหารปรุงสุก หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว หอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีก ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงโรคไข้หวัดนกในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่พบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยมาหลายปีแล้วก็ตาม รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการระบาดของโรคโดยประสานหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรคทุกแห่งเร่งดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในพื้นที่อย่างเข้มข้น หากมีผู้ป่วยสงสัยให้ดำเนินการสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจเพื่อหาสาเหตุ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 หรือเว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่กรมควบคุมโรค http://beid.ddc.moph.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ