เยาวชน Gen A มช. ระดมพลชาวเชียงใหม่ เย็บ “ตุ๊กตาวิเศษ” เยียวยาใจเด็กถูกละเมิดทางเพศ

ข่าวทั่วไป Monday March 13, 2017 09:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่น เด็กไทยตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศปีละเกือบ 20,000 ราย และทุก 15 นาทีมีเด็กถูกล่วงละเมิดเพิ่มขึ้น 1 คน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจ ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงพยายามหาข้อมูลที่จำเป็นต่อรูปคดี เพื่อนำมาใช้รักษาเยียวยาสภาพจิตใจของเด็กที่ถูกละเมิด ซึ่งหลายครั้งมีการตั้งคำถามที่ซับซ้อน ตอกย้ำเรื่องราวสะเทือนใจ หรือในบางกรณีมีปัญหาวัยและการใช้ภาษา จึงทำให้การสืบสวนเข้าใจไม่ตรงกัน ยากต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องมือที่ช่วยประกอบการสอบถาม ที่มีความเหมาะสมต่อบริบทต่างๆ ซึ่งจะเป็นการเติมเต็มช่องว่างในการสื่อสารให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาโครงการตุ๊กตาวิเศษ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 28 โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย Gen A 2016 (Empower Active Citizen) ภายใต้แนวคิด "พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ" ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน อาทิ บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการเปิดเวทีให้กับเด็กและเยาวชน คนรุ่นใหม่ มาแสดงพลังความสามารถตามที่ตนมีอยู่เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ดียิ่งขึ้น โครงการตุ๊กตาวิเศษ เป็นการจัดทำตุ๊กตาเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ซึ่งมีความพิเศษจากตุ๊กตาที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด คือ มีอวัยวะเสมือนจริง เพื่อใช้ในการบอกรายละเอียดการล่วงละเมิดได้ เช่น อวัยวะเพศชาย อวัยวะเพศหญิง ทวารหนัก ปาก และเส้นผม ซึ่งถือเป็นจุดหลักๆ ที่คนร้ายมักกระทำชำเรามากที่สุด ที่ผ่านมาตุ๊กตานี้มีประสิทธิภาพเพียงพอในการช่วยเหลือพนักงานสอบสวน ช่วยให้ผู้เสียหายสามารถอธิบายถึงลักษณะเหตุการณ์ที่ตนถูกล่วงละเมิดได้อย่างครบถ้วน และสื่อสารกับนักจิตวิทยาได้อย่างชัดเจน ล่าสุดพบว่า ทางตำรวจต้องการตุ๊กตาวิเศษเป็นอย่างมาก กลุ่มตุ๊กตาวิเศษจึงรวมตัวกันเป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยขยายเสียง โดยระดมจิตอาสาในจังหวัดเชียงใหม่ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำตุ๊กตา เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้องระหว่างผู้เสียหายกับพนักงานสอบสวนและนักจิตวิทยา นางสาวสุพรรณิกา โชคไพบูลย์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่คนๆ เดียวหรือกลุ่มคนเล็กๆ จะแก้ไขได้ การแก้ปัญหานี้ต้องเริ่มจากรับรู้และการตระหนัก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในส่วนที่เรากำลังทำ คือ การเยียวยาสภาพจิตใจของผู้เสียหายหลังจากที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งขั้นตอนที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ตามความสามารถที่เรามี แน่นอนว่าเราคงไม่อยากให้มีการใช้ตุ๊กตาตัวนี้บ่อยๆ แต่ในเมื่อมันมีปัญหานี้เกิดขึ้น เราจึงต้องใชตุ๊กตาตัวนี้ในขั้นตอนของการเยียวยา ส่วนในขั้นตอนการแก้ปัญหาอื่นๆ ตั้งแต่ต้นทางอาจจะต้องขอความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและคนในสังคมมาช่วยกัน เพื่อป้องกันปัญหาอย่างครบวงจร ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายของโครงการเราไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเย็บตุ๊กตาได้กี่ตัว แต่ภาพที่เราอยากให้เกิดขึ้นคือปัญหาการล่วงละเมิดเด็กหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่จะหมดไปจากสังคมไทย ด้านผู้ร่วมโครงการ พิสิฐ อินทรศิริพงษ์ กล่าวว่า "รู้จักโครงการนี้จากทางแฟนเพจเฟซบุ๊กและเพื่อนที่เคยมาร่วมโครงการชักชวนมา โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีเพราะทำเกี่ยวกับเด็กในประเด็นที่มีความสำคัญ บรรยากาศในวันจัดกิจกรรมอบอุ่นมาก มีทั้งเพื่อนที่รู้จักและเพื่อนใหม่ที่มาช่วยกันเย็บตุ๊กตา ตอนแรกคิดว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ไกลตัวจนเรามองข้ามมันไป จนได้มารู้จักกับโครงการนี้ ทำให้รู้ว่าเรื่องนี้มันไม่ได้ไกลตัว กลับเป็นเรื่องใกล้ตัวด้วยซ้ำ มันไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของมนุษย์ทุกคนที่จะช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่และปลอดภัย ผมก็จะช่วยเป็นอีกหนึ่งแรงในการสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการต่อไป" ตุ๊กตาสำหรับบางคนอาจเป็นเพียงแค่ของเล่น แต่ใครจะรู้ว่าอีกด้านหนึ่ง ตุ๊กตาจะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนๆ หนึ่งสามารถก้าวข้ามผ่านเหตุการณ์อันเลวร้าย และกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติโดยบาดแผลในใจได้รับการเยียวยา โครงการตุ๊กตาวิเศษจึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเย็บตุ๊กตาหรือร่วมบริจาคอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ เช่น ผ้า ด้าย ไหมพรม โดยสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมได้ที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก ตุ๊กตาวิเศษ - Kindness and Bravery dolls

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ