บกปภ.ช.กำชับจังหวัดบูรณาการป้องกันแก้ไขไฟป่า-หมอกควันอย่างเข้มข้นเตรียมพร้อมรับมือปัญหาภัยแล้งเชิงรุกล่วงหน้า – เน้นย้ำฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ครอบคลุมทุกด้าน

ข่าวทั่วไป Tuesday March 14, 2017 12:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ประชุมติดตามการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย โดยเฉพาะไฟป่าหมอกควัน ภัยแล้ง และการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้กำชับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกผ่านกลไก "ประชารัฐ" พร้อมเน้นย้ำให้ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ รวมถึงยึดการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล กรอบระยะเวลาที่กำหนด ระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ด้าน ปภ. เตรียมพร้อมกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทั่วถึง นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า ระยะนี้หลายพื้นที่ของประเทศมีความเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัยในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะภาคเหนือได้รับผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควัน ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาภัยแล้ง ในส่วนภาคใต้อยู่ในช่วงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย จึงได้สั่งการให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.)โดยกระทรวงมหาดไทยบูรณาการจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยเชิงรุกผ่านกลไก "ประชารัฐ" ไว้ล่วงหน้า และวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ โดยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ให้กองอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด และอำเภอ เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกด้าน โดยให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดจังหวัดติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด พร้อมแบ่งพื้นที่และมอบหมายหน่วยปฏิบัติอย่างชัดเจนใน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่ป่าไม้ มุ่งจัดทำแนวกันไฟและกำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง รวมถึงจัดกำลังลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่า 2.พื้นที่การเกษตรและชุมชน ให้ใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยสนับสนุนการควบคุมและลดการเผา 3.พื้นที่ริมทาง เฝ้าระวังไม่ให้มีการเผาในเขตริมทาง ทั้งนี้ ได้กำชับให้จังหวัดดำเนินมาตรการให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ มุ่งรณรงค์การไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตรแทนการเผาหรือใช้สารอินทรีย์ย่อยสลายตอซัง ประกาศเขตห้ามเผา จัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังและระงับเหตุไฟป่า พร้อมระดมกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครภาคประชาชนจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการห้ามเผาในพื้นที่ควบคุม สำหรับจังหวัดที่มีสนามบินพาณิชย์ ให้ประสานงานกับศูนย์ควบคุม การบิน เพื่อแจ้งสถานการณ์หมอกควันและวางแผนรองรับกรณีหมอกควันส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยทางอากาศ กรณีเกิดวิกฤตหมอกควัน ให้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการปฏิบัติตนในช่วงเกิดสถานการณ์หมอกควัน รวมถึงระดมวัสดุอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชื้น เพื่อลดปริมาณ ฝุ่นละอองหมอกควันในอากาศ นอกจากนี้ ให้จังหวัดส่งเสริมการนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีมาใช้ในการลดการเผาวัสดุทางการเกษตร เพื่อควบคุมปัญหาไฟป่าและวิกฤตหมอกควันเป็นศูนย์ นายกฤษฎา กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า เขื่อนหลักทั่วประเทศมีปริมาณน้ำมากกว่าปี พ.ศ.2559 ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บางแห่งมีปริมาณน้ำจำกัด จึงจำเป็นต้องจัดสรรน้ำไว้อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ทำให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตร บกปภ.ช. ได้กำชับให้จังหวัดเตรียมพร้อมป้องกัน แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยภัยแล้งที่ครอบคลุมทุกมิติไว้ล่วงหน้า มุ่งบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และและวางแผนจัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สุงสุด โดยจัดชุดปฏิบัติการสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำและปริมาณน้ำต้นทุน ประเมินความต้องการใช้น้ำ และกำหนดมาตรการแก้ปัญหากรณีน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเฉพาะเกษตรกรให้ปรับวิถีการทำการเกษตร งดเว้นการทำนาปรัง ปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย นอกจากนี้ ให้จัดเตรียมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสำหรับแจกจ่ายและสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง รวมถึงกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำที่เข้าถึงประชาชในนทุกพื้นที่ เพื่อให้ทุกครัวเรือนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในส่วนการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้กปภ.ช.ได้ติดตามการดำเนินงานในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้กำชับให้จังหวัดน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในการดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยโดยเร็ว โดยเฉพาะด้านการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพ ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม ให้เร่งซ่อมแซมให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว ควบคู่กับการวางแนวทางการจัดการปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้ง 111 จุด เพื่อป้องกันอุทกภัยในระยะยาว ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำ ให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล กรอบระยะเวลาที่กำหนด ระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ปภ. จะได้สนับสนุนการปฏิบัติการของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ ปภ.ได้เตรียมพร้อมทั้งด้านกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย มั่นใจได้ว่าประชาชนจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ