กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง เปิดเวทีหารือระหว่างประเทศ ถกความคิดเห็นสมาชิกในภูมิภาค เตรียมความพร้อมก่อนจัดทำร่าง “นโยบายประมงร่วมประชาคมอาเซียน”

ข่าวทั่วไป Wednesday March 29, 2017 21:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันนี้ (27 มี.ค.60) เวลา 9.00 น. นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระหว่างประเทศ Technical Consulation on Development of the ASEAN Common Fisheries Policy ซึ่งประเทศไทย โดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 27 -28 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมวินเซอร์ สวิท แอนด์ คอนเวนชั่น ซึ่งการจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อเปิดเวทีให้ชาติสมาชิกอาเซียนร่วมหารือแลกเปลี่ยนมุมมอง และรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคเตรียมความพร้อมก่อนกันจัดทำร่างนโยบายประมงร่วมประชาคมอาเซียน "ASEAN Common Fisheries Policy" ? นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจัดประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 38 ซึ่งมีมติเห็นชอบร่วมกันที่จะส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันพัฒนานโยบายประมงร่วมประชาคมอาเซียน หรือ"ASEAN Common Fisheries Policy" เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของภูมิภาค ทั้งในส่วนของทรัพยากรสัตว์น้ำที่มาจากการจับจากธรรมชาติ รวมถึงการเพาะเลี้ยงด้วย รัฐบาล และพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีนโยบายให้มีการรวบรวมความคิดเห็นและแนวทางการบริหารจัดการด้านประมงในภาพรวมของอาเซียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นไปนำเสนอในที่ประชุมของรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนกันยายนนี้ โดยจะมีการหารือใน 4 ประเด็นหลัก คือ (1) แนวทางการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืนให้เป็นอันหนึ่งเดียวกันในอาเซียน (2) การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับไอยูยู โดยจะมีการหารือถึงกรอบความร่วมมือการทำประมงที่ไม่ผิดกฎหมายในกลุ่มประเทศอาเซียนว่าจะเดินหน้าร่วมกันไปในทิศทางใด (3) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามชายฝั่งทะเล เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การประมงในอนาคตไม่ต้องไปเสี่ยงการทำประมงที่ผิดกฎหมาย โดยจะมีการวางแผนทางด้านวิชาการ และการบริหารจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ (4) การทำให้ชาวประมงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทั้ง 4 ส่วนนี้ คือประเด็นสำคัญที่จะหารือร่วมกันเพื่อนำไปสู่การประชุมในระดับสูงต่อไป โดยเป็นการกล่าวย้ำว่า ประเทศไทยมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะดำเนินการบริหารจัดการประมงให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายในระยะยาว ทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศในแถบใกล้เคียง นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวจะมีการนำเสนอนโยบายการประมงร่วมของภูมิภาคต่าง ๆ เช่น กรอบแนวทางความร่วมมือทำการประมงอย่างยั่งยืนภายใต้องค์การ FAOเพื่อเป็นแนวทางให้กลุ่มสมาชิกอาเซียนได้พิจารณาประกอบการจัดทำนโยบายประมงร่วมประชาคมอาเซียน รวมทั้งเปิดเวทีให้ผู้แทนของสมาชิกอาเซียนร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแนวทางการจัดทำนโยบายประมงร่วมในภูมิภาคต่อไป ?ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจะร่วมมือกันอย่างจริงจังในการกำหนดนโยบายการประมงร่วมประชาคมอาเซียน เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการบริหารจัดการประมงของภูมิภาคที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากร อย่างสมดุลและยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำที่มีความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งการนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ