“คุณภาพชีวิต: สิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุไทย ปี 2560”

ข่าวทั่วไป Friday April 21, 2017 12:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--นิด้าโพล เนื่องในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ตรงกับวันผู้สูงอายุ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ (Center for Aging Society Research – CASR) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "คุณภาพชีวิต: สิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุไทย ปี 2560" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27 – 31 มีนาคม 2560 จากผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมือง กระจายทุกภูมิภาคและระดับการศึกษา ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,500 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่า ความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นของผู้สูงอายุ ที่พักอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมือง เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เป็นมิตร กับผู้สูงอายุในประเด็นต่าง ๆ ด้านถนนหรือทางเดินที่ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ (นั่งรถเข็น) เดินไปมาได้อย่างสะดวก พบว่า ผู้สูงอายุ ร้อยละ 72.93 ระบุว่า มีถนนหรือทางเดินที่ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ(นั่งรถเข็น) เดินไปมาได้อย่างสะดวก ขณะที่ ร้อยละ 27.07 ระบุว่า ไม่มี ด้านความปลอดภัยในชีวิตในการอยู่อาศัยในละแวกบ้าน พบว่า ร้อยละ 87.53 ระบุว่า รู้สึกว่ามีความปลอดภัย ขณะที่ ร้อยละ 12.47 ระบุว่า ไม่มีความปลอดภัย ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการ เช่น มีทางลาดแทนบันได มีห้องน้ำที่เป็นโถนั่ง ตามอาคาร สถานที่ราชการ หรือเอกชนที่ต้องเดินทางไปติดต่อ พบว่า ร้อยละ 77.07 ระบุว่า มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการ รองลงมา ร้อยละ 21.27 ระบุว่า ไม่มี ขณะที่ ร้อยละ 1.66 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านระยะทางจากบ้านจนถึงป้ายรถเมล์/ที่จอด/สถานีรถโดยสารประเภทต่าง ๆ (รถประจำทาง/รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน) ที่สามารถใช้บริการได้ อยู่ในระยะที่เดินไปได้ (ประมาณ 5 – 10 นาที) พบว่า ร้อยละ 59.33 ระบุว่า ระยะทางจากบ้านจนถึงป้ายรถเมล์ฯ อยู่ในระยะที่สามารถเดินไปได้ ขณะที่ ร้อยละ 40.27 ระบุว่า ไม่สามารถเดินไปได้ และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เปิดกว้างแก่ผู้สูงอายุ ในประเด็นต่างๆ ด้านการได้รับความเคารพนับถือจากผู้ที่อยู่รอบ ๆ ตัว (ทั้งคนในครอบครัว ในชุมชนที่อยู่อาศัย) พบว่า ผู้สูงอายุ ร้อยละ 95.60 ระบุว่า ได้รับความเคารพนับถือจากผู้ที่อยู่รอบ ๆ ตัว ขณะที่ ร้อยละ 4.40 ระบุว่า ไม่ได้ สำหรับโอกาสที่จะได้งานทำตามที่ผู้สูงอายุต้องการ ในกรณีที่ต้องการทำงานหารายได้ พบว่า ร้อยละ 53.07 ระบุว่า ไม่มีโอกาสที่จะได้งานทำตามที่ต้องการ ขณะที่ ร้อยละ 46.87 ระบุว่า มีโอกาส และร้อยละ 0.07 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้านในการติดต่อกับลูกหลาน ญาติ หรือเพื่อนได้ เช่น การใช้ Line, Facebook, e-mail พบว่า ร้อยละ 55.93 ระบุว่า ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ ขณะที่ ร้อยละ 43.93 ระบุว่า สามารถใช้ได้ และร้อยละ 0.13 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านการเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครอย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบเดือนที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 63.80 ระบุว่า ไม่ได้เข้าร่วมอาสาสมัคร ขณะที่ ร้อยละ 36.00 ระบุว่า ได้เข้าร่วม และร้อยละ 0.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม (เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานทำบุญ) อย่างน้อยหนึ่งครั้ง พบว่า ร้อยละ 83.47 ระบุว่า ได้เข้าร่วมทางสังคม วัฒนธรรม ขณะที่ ร้อยละ 16.53 ระบุว่า ไม่ได้เข้าร่วม ด้านการมีรายได้เพียงพอกับการยังชีพ โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือกู้ยืมเงินจากผู้ใด ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2559 – กุมภาพันธ์ 2560) พบว่า ร้อยละ 62.60 ระบุว่า มีรายได้เพียงพอกับการยังชีพ ขณะที่ ร้อยละ 37.33 ระบุว่า มีรายได้ไม่เพียงพอ และร้อยละ 0.07 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในประเด็นสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในชุมชนที่ตนเองอยู่อาศัย (เช่น การเลือกตั้งผู้แทนท้องถิ่น การพิจารณาโครงการพัฒนาในท้องที่) ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2559 – กุมภาพันธ์ 2560) พบว่า ร้อยละ 52.60 ระบุว่า ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ขณะที่ ร้อยละ 47.13 ระบุว่า ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม และร้อยละ 0.27 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการได้ลงทะเบียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาหรือการฝึกอบรมความรู้จากหน่วยงานรัฐ/เอกชน (เช่น การลงทะเบียนเรียนในสถาบันการศึกษา การฝึกอบรมอาชีพ การฝึกอบรมด้านการใช้คอมพิวเตอร์ การฝึกอบรมด้านทำบัญชีครัวเรือน) ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2559 – กุมภาพันธ์ 2560) พบว่า ร้อยละ 75.27 ระบุว่า ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการศึกษา ร้อยละ 24.00 ระบุว่า ได้เข้าร่วม และร้อยละ 0.73 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 12.60 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ตัวอย่างร้อยละ 29.13 มีภูมิลำเนา อยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 16.47 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 26.27 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 14.73 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 0.80 ไม่ระบุ ตัวอย่าง ร้อยละ 51.27 เป็นเพศชาย และร้อยละ 48.73 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 52.67 มีอายุ 60 – 65 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 26.53 มีอายุ 66 – 70 ปี ร้อยละ 12.80 มีอายุ 71 – 75 ปี ร้อยละ 6.33 มีอายุ 76 – 80 ปี ร้อยละ 1.67 มีอายุมากกว่า 80 ปี ขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.20 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 1.93 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.27 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 0.60 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 47.80 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 19.33 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.73 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 19.67 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.80 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.67 ไม่ระบุการศึกษา
แท็ก นิด้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ