ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังโอเปกขยายระยะเวลาการปรับลดการผลิต ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 29, 2017 17:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--ไทยออยล์ บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 29 พ.ค. – 2 มิ.ย. 60) ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังได้รับแรงหนุนจากการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตออกไปสิ้นสุดไตรมาส 1 ของปี 2561 ประกอบกับ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการที่โรงกลั่นในสหรัฐฯ คงกำลังการผลิตในอัตราที่สูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ ตลอดจนการปรับตัวลดลงของปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ราคายังคงเผชิญกับแรงกดดันจากอุปทานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ ซึ่งมีปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากการที่โรงกลั่นในสหรัฐฯ คงกำลังการกลั่นในอัตราที่สูงต่อเนื่องที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 93 เพื่อรองรับความต้องการน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 19 พ.ค. 2560 ปรับลดลง 4.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 516.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน ภาวะอุปทานน้ำมันของโลกที่ล้นตลาดมีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังการประชุมวันที่ 25 พ.ค. ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกบรรลุข้อตกลงในการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก 9 เดือนนับจากกำหนดการเดิมที่สิ้นสุด มิ.ย. 60 และคงปริมาณการปรับลดที่ราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม อิหร่าน ลิเบีย และ ไนจีเรียยังคงได้รับการยกเว้นการปรับลดกำลังการผลิต เนื่องจากประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรและเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ ปริมาณผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่เหนือ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี นับจากเดือน เม.ย. 58 และส่งผลทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกว่าร้อยละ 10 จากช่วงกลางปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 9.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 26 พ.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 2 แท่นมาอยู่ที่ 722 แท่น โดยกว่า 2 ใน 3 ของการปรับเพิ่มขึ้นยังคงมาจากแหล่งผลิต Permian และ Eagle Ford จับตาการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียหลังปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นแตะระดับ 800,000 บาร์เรลต่อวัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากปัญหาไฟฟ้าขัดข้องที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบ Sarir และ Messla ส่งผลให้ปริมาณการผลิตปรับลดลง โดยลิเบียตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณการผลิตของประเทศให้ขึ้นมาสูงกว่าระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเร็วๆ นี้ แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara และ El Feel ได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปลายเดือน เมย.60 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะปรับขึ้นมาอยู่ระหว่าง 1.1 – 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในเดือน ส.ค. 60 จับตาการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย หลังเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศเริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยไนจีเรียตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตจากปัจจุบันที่ราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันให้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้ หลังแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Forcados ซึ่งมีปริมาณการผลิตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 200,000 – 250,000 บาร์เรลต่อวัน คาดจะสามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิตในเดือน พ.ย. 60 ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและบริการจีน ดัชนีกาคการผลิตสหรัฐฯ การจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ อัตราการว่างงานสหรัฐฯ สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 พ.ค. 60) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตรวมกันราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ค. 60 นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุด ปรับลดลงราว 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 516.3 ล้านบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ