กยท. เดินหน้า จัดกิจกรรมเพื่อสังคม ปี 60 เน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ร่วมบูรณาการ หวังกระตุ้นใช้ยางพาราภายในประเทศ และสร้างมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Monday June 12, 2017 18:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--การยางแห่งประเทศไทย การยางแห่งประเทศไทย เดินหน้าจัดโครงการด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งเน้นให้เกิดการ บูรณาการด้านความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อพัฒนาสังคมในทุกมิติ หลายโครงการเน้นการพัฒนานำไปสู่ความยั่งยืน โดยใช้กระบวนการบูรณาการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทั้งจากคนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร เผยว่า กยท. มุ่งมั่นและให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 กยท. ได้ดำเนินงานโครงการด้าน CSR ต่างๆ มากมายหลายโครงการ ได้แก่ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โครงการนำร่องปลูกป่าแบบยั่งยืนในสวนยางพารา โครงการร่วมปลูกป่าและบริจาคเงินสมทบ "โครงการน้อมใจถวาย 6 ล้านกล้า ฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เพื่อลดภาวะโลกร้อน" โครงการปลูกป่าในพื้นที่สาธารณประโยชน์ (ครองราชย์ครบ 70 ปี) โครงการสาธารณกุศลเพื่อชุมชน โครงการฝายชะลอน้ำ โครงการยางปูพื้นสนามเด็กเล่น โครงการทุนการศึกษา กยท. และโครงการรณรงค์ต่อต้านการคอรัปชั่น เป็นต้น โครงการต่างๆ เหล่านี้ เน้นประโยชน์พัฒนานำไปสู่ความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง และประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยใช้กระบวนการบูรณาการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทั้งจากคนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งนอกจากความสุขที่ได้จะเกิดขึ้นแก่คนในชุมชนนั้นๆ แล้ว ยังก่อให้เกิดความสามัคคีอันเกิดจากความร่วมมือของทุกคนอีกด้วย นายเชาว์ กล่าวต่อว่า ล่าสุด กยท. ได้สำรวจพื้นที่ต่างๆ พบว่า จังหวัดน่าน กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค และใช้ในการทำเกษตรกรรม จึงมีแนวคิดสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำใน 3 หมู่บ้าน จาก 3 อำเภอจังหวัดน่าน คือ (1) บ้านต้นผึ้ง เขตพื้นที่อำเภอปัว (2) บ้านเหนือวัด เขตพื้นที่อำเภอเมือง และ (3) บ้านพี้เหนือ เขตพื้นที่อำเภอบ้านหลวง เพื่อชะลอการไหลแรงของน้ำในช่วงฤดูฝน สร้างความชุ่มชื้นแก่ป่าบริเวณต้นน้ำ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและความสมดุลของระบบนิเวศน์ในพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์ รวมถึงเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและใช้ทำการเกษตรแก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่ง กยท. ได้ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชน หน่วยงานราชการในพื้นที่ ภาคีเครือข่ายของแต่ละพื้นที่ ทั้ง 3 หมู่บ้าน ดำเนินการสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน "กยท. มีความพร้อมในการดำเนินการโครงการการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ตามกรอบแผนที่วางไว้ในปีงบประมาณ 2560 อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเป็นการบูรณาการให้เกิดการพัฒนาต่อสังคมร่วมกันในทุกมิติ" นายเชาว์กล่าวทิ้งท้าย ด้านนายชัยศรี โชติรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กล่าวถึง โครงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) "การเลี้ยงปลาในบ่อเคลือบน้ำยาง" จ.นครราชสีมา ว่า โครงการนี้ กยท.ได้ร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้แนวคิดส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ หวังที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางมีการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการประกอบอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงปลา ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ทางเลือกเพิ่มขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการใช้ยางแทนการใช้ถุงพลาสติกที่มีอายุการใช้งานเพียง 2 ปีสำหรับรองพื้นบ่อ นายธนพันธ์ ชำนาญธนา ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การปูบ่อเลี้ยงปลาด้วยน้ำยางพาราจะมีอายุการใช้งานได้นานถึง 10 ปี โดยการนำน้ำยางผสมกับสารเคมีปูพื้นบ่อเลี้ยงปลา ซึ่ง กยท. ทำบ่อเลี้ยงปลาดังกล่าวให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 5 ครัวเรือนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งสนับสนุนเงินค่าพันธุ์ปลาและอาหารปลา รวมถึงพันธุ์ไม้และเมล็ดพันธุ์ผัก ร่วมทั้งการมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนในพื้นที่ด้วย
แท็ก ยางพารา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ