มรภ.สงขลา เจ้าภาพสัมมนาเครือข่าย “วจก.” ราชภัฏภาคใต้ ผนึกความร่วมมือ 5 สถาบัน-สร้างความแข็งแกร่งทางวิชาชีพ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 20, 2017 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--มรภ.สงขลา มรภ.สงขลา เปิดบ้านจัดสัมมนาเครือข่ายคณะ วจก. มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้ ครั้งที่ 7 สร้างพันธมิตรทางการศึกษา ฟากอธิการฯ"ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม" แนะต่อยอดแลกเปลี่ยนนวัตกรรม งานวิจัยใหม่ๆ ร่วมสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาชีพ ผศ.นิตยา จิตรักษ์ธรรม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเครือข่ายบุคลากรเพื่อพัฒนาการศึกษา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้ วจก.5+2 ครั้งที่ 7 ณ โรงแรมบีพีสมิหลาบีช แอนด์ รีสอร์ท จ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีอาจารย์และบุคลากรของคณะวิทยาการจัดการ จาก 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคใต้ ได้แก่ มรภ.สงขลา มรภ.ยะลา มรภ.นครศรีธรรมราช มรภ.สุราษฎร์ธานี และ มรภ.ภูเก็ต ส่วน + 2 คือคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.นครศรีธรรมราช และ มรภ.สงขลา เข้าร่วม 255 คน โดยมีผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดี มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมปาฐกถาพิเศษ นวัตกรรมสหกิจศึกษาในยุค 4.0 ซึ่งการสัมมนาเครือข่าย วจก. จัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ของอาจารย์และบุคลากร ผ่านการฟังบรรยายจากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถของแต่ละมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ งานหลักสูตร งานสหกิจศึกษา การประกันคุณภาพการศึกษา การวิจัย การพัฒนานักศึกษา การบริหารงานสำนักงาน ตลอดจนสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ ตลอดจนช่วยให้บุคลากรทั้ง 5มหาวิทยาลัย ได้พบปะสังสรรค์ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ และยังเป็นการสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งทางการศึกษาของ 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้อีกด้วย ด้าน ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมที่เครือข่าย วจก. มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้มีความเข้มแข็ง ซึ่งหากสามารถจับมือกันไว้อย่างเหนียวแน่น และมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ย่อมทำให้วิชาชีพแขนงนี้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ตนเชื่อว่าในปีถัดๆ ไป มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจะนำเอานวัตกรรมการเรียนรู้และผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่น่าสนใจ มานำเสนอในที่ประชุม เนื่องจากแต่ละแห่งมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอยู่เป็นจำนวนมากมาก แต่จะทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาได้ และทำอย่างไรให้การเรียนรู้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งในมุมมองของตนการจัดการเรียนการสอนให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ควรมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติด้วยจึงจะสมบูรณ์ ฟังดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มภาระให้อาจารย์ แต่หากเราทำงานโดยไม่มองว่าสิ่งที่ทำนั้นคือภาระ เราจะรู้สึกเป็นสุขและสบายใจ อยากให้การสอนหนังสือเป็นเรื่องสนุกและมีความสุข เช่นเดียวกับเวลาที่เล่นกีฬาแล้วรู้สึกสนุกไปกับมัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ