กรมสุขภาพจิต ชู แนวคิด “กลุ่มครอบครัวสุขใจ”ช่วยผู้ติดสุรา ลด ละ เลิก อย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 27, 2017 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กรมสุขภาพจิต นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.รพ.สวนปรุง คณะผู้บริหาร สื่อมวลชนส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่ชุมชนบ้านป่าขุย ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เยี่ยมเยือนและชมกระบวนการกลุ่มครอบครัวสุขใจ ณ วัดป่าขุย โดยมี พระครูสุวัฒน วรคุปต์ เจ้าอาวาสวัดเชฏฐาวรคุปต์ (วัดป่าขุย) นายสว่าง หนักแน่น นายกเทศมนตรีตำบลสันปูเลย นายณรงค์ คำราพิช กำนัน ต.สันปูเลย นายเกษม คุณยศยิ่ง ผู้ใหญ่บ้านป่าขุย ม.3 ต.สันปูเลย นางพวงรัช ทวีศักดิ์ ประธาน อสม.บ้านป่าขุย ม.3 ต.สันปูเลย นางวิจิตรา ตันติชวาลวงศ์ ผอ.รพ.สต.บ้านกอกหม่น ต.สันปูเลย นางภรภัทร สิมะวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ รพ. สวนปรุง ผู้นำกระบวนการกลุ่มและสมาชิกกลุ่มครอบครัวสุขใจ ตลอดจนประชาชนชุมชน ต.สันปูเลย ให้การต้อนรับ นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการดูแลผู้ติดสุราในระบบสุขภาพ ประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก คือ 1) มาตรการจัดการระยะแรก เพื่อค้นหาผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราให้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและให้การดูแลรักษาเบื้องต้น โดยการคัดกรอง และการให้การบำบัดระยะสั้น 2) มาตรการบำบัดรักษาภาวะถอนพิษสุราและโรคร่วมทางกาย เพื่อป้องกันและรักษาภาวะขาดสุราและโรคทางกายที่พบร่วม 3) มาตรการการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพ เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการละ ลด เลิกดื่ม และนำเข้าสู่ขบวนการบำบัดฟื้นฟูทางจิตใจ ป้องกันการกลับดื่มซ้ำ ได้แก่ การบำบัดแบบย่อ การบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ การ บำบัดทางพฤติกรรมปัญญา และการให้คำปรึกษาปัญหาการดื่มสุรา เป็นต้น และ 4) มาตรการดูแลระยะยาวหลังการรักษา ภายหลังจากผู้ติดสุราถูกจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล และจะได้รับการดูแลต่อเนื่องในชุมชน ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถคงอยู่ในสังคมได้โดยไม่ดื่มสุรา จึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เช่น กลุ่มผู้ติดสุรา พระสงฆ์ แกนนำชุมชน ทีมสุขภาพในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มครอบครัวบำบัดสุขใจ เป็นรูปแบบการบำบัดทางเลือกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเหลือให้ผู้ติดสุราลด ละ เลิกพฤติกรรมการดื่มสุราได้ ตลอดจนช่วยให้ผู้ติดสุราและสมาชิกในครอบครัวสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ดีขึ้น เป็นการแก้ปัญหาการดื่มสุราอย่างเป็นระบบและครอบคลุม ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยหลักสำคัญในการบำบัด ประกอบด้วย 1) สมาชิกครอบครัวของผู้ติดสุราจำนวน 2-12 ครอบครัว 2) เน้นการช่วยเหลือตนเอง และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 3) เน้นการแก้ปัญหาในปัจจุบัน 4) มีครูผู้เอื้อ 5) มีการประสานงานกับองค์กรต่างๆในชุมชน 6) จัดตั้งในชุมชน และ 7) เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัว ด้าน นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.รพ.สวนปรุง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยจะเข้ากลุ่มทำกิจกรรม 3 ชุดกิจกรรม ชุดกิจกรรมที่ 1 จะเข้ากลุ่มสัปดาห์ละ 1 ครั้งๆ ละ 60-90 นาที รวม 10 ครั้ง เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปรับทัศนคติ ความเชื่อ เกี่ยวกับสุราและผลกระทบ ฝึกทักษะการสื่อสาร รู้บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว สร้างแรงจูงใจและตั้งเป้าหมาย ลด ละ เลิกดื่มสุรา ส่วน กิจกรรมชุดที่ 2 จะเป็นสมาชิกที่ผ่านกิจกรรมชุดที่ 1 โดยจะเข้ากลุ่มครั้งละ 60-90 นาที รวม 3 ครั้ง เพื่อต่อยอดความรู้และประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาการดื่มสุรา ในประเด็นที่สมาชิกยังไม่เข้าใจ เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพิ่มแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตทางบวก ลด ละ เลิกการดื่มสุราต่อเนื่อง ในรายที่กลับไปดื่มซ้ำ จะไม่ตำหนิแต่ให้กำลังใจ ซักถามปัญหาอุปสรรคและร่วมกันแก้ไขปัญหา และ กิจกรรมชุดที่ 3 จะเป็นสมาชิกที่ผ่านกิจกรรมชุดที่ 2 และผู้สนใจที่อาศัยอยู่ในชุมชน เข้ากลุ่มครั้งละ 2-3 ชั่วโมง รวม 3 ครั้ง เน้นชุมชนเห็นความสำคัญและเกิดความตระหนักในวิกฤติปัญหาสุรา แนะนำกลุ่มครอบครัวสุขใจในการแก้ไขปัญหา ให้สมาชิกที่ผ่านการเข้ากลุ่มแบ่งปันประสบการณ์ โดยมีผู้นำกลุ่มเป็นพยาบาลจิตเวชที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการทำกลุ่มครอบครัวบำบัดผู้ติดสุรา จากประเทศศรีลังกา เป็นผู้นำกระบวนการกลุ่ม จากการพัฒนากลุ่มครอบครัวสุขใจโดย รพ.สวนปรุง เมื่อปี 2557 ศึกษานำร่องในชุมชน ผู้ติดสุรา 28 คน พบว่า ภายหลังการเข้าร่วมกลุ่มครอบครัวสุขใจ ผู้ติดสุราสามารถหยุดดื่มสุราได้ 12 คนคิดเป็น ร้อยละ 42.85 ตลอดจนจากการศึกษาประสิทธิผลของกลุ่มครอบครัวสุขใจต่อพฤติกรรมการดื่มสุราและการทำหน้าที่ครอบครัวในผู้ติดสุรา ศึกษา ในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ อ.เมือง จ.ลำพูน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 40 คน ศึกษาตั้งแต่เดือน เมษายน 2559 - มีนาคม 2560 พบว่า ช่วยผู้ติดสุราสามารถหยุดดื่มสุราได้ 19 ราย คิดเป็น ร้อยละ 47.50 ช่วยผู้ติดสุราลดดื่มสุราได้ 16 ราย คิดเป็น ร้อยละ 40.00 และทำให้การทำหน้าที่ของครอบครัวของกลุ่มตัวอย่างดีขึ้น 33 ราย คิดเป็น ร้อยละ 82.50

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ