รัฐมนตรีเกษตรฯ หารือผอ.ใหญ่ เอฟ เอ โอ แจงความก้าวหน้าการแก้ปัญหาประมงไอยูยูของไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 19, 2017 15:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายโฮเซ กราเซียอาโน ดาซิลวา ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟ เอ โอ ว่า สาระสำคัญในการหารือในครั้งนี้ คือ ชี้แจงความก้าวหน้าการแก้ปัญหา IUU ของประเทศไทยที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาIUU และถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้เข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ 2 ความตกลง ในช่วงปี 2559-2560 คือ ภาคีความตกลงมาตรการรัฐเจ้าของท่า (Port State Measures Agreement : PSMA) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 โดยได้บรรจุสาระสำคัญของPSMA ไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2562 และภาคีความตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์และจัดการประชากรสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ระหว่างเขตทางทะเลและประชากรสัตว์น้ำที่ย้ายถิ่นอยู่เสมอ ( UNFSA)เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังให้สนับสนุนการจัดตั้งวันสากลแห่งการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมด้วย โดยได้ถือโอกาสขอบคุณทางเอฟ เอ โอโอ ที่สนับสนุนความช่วยเหลือประเทศไทย เกี่ยวกับการดำเนินโครงการเพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มาอย่างต่อเนื่องหลายโครงการด้วย "เอฟ เอ โอ ได้รับทราบถึงความแน่วแน่ของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ในด้านการทำประมง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการตามแนวปฏิบัติโดยสมัครใจว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของธง เช่น ปรับปรุงการจดทะเบียนเรือและใบอนุญาต การควบคุมเรือประมงไทยไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ทั้งในน่านน้ำไทยและน่าน้ำสากล และอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลง (MOU) กับรัฐเจ้าของธงอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย รวมถึงดำเนินการตามแนวปฏิบัติโดยสมัครใจเพื่อสนับสนุนการทำประมงขนาดเล็กอย่างยั่งยืนเพื่อความมั่นคงอาหารและการขจัดความยากจน" พลเอกฉัตรชัย กล่าว นอกจากนี้ ยังได้แจ้งถึงความคืบหน้าของการเข้าร่วมโครงการขจัดปัญหาความอดอยากหิวโหยของประเทศไทย ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้เข้าร่วมโครงการแล้วตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2559 โดยเป้าหมายโครงการฯ ของเอฟ เอ โอ ได้กำหนดให้ภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) ทั่วโลกบรรลุเป้าหมาย 5 ประการ คือ 1) การเข้าถึงอาหารได้ 100% 2) การหยุดภาวะแคระแกร็นในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 3) ระบบอาหารทั้งหมดมีความยั่งยืน 4) การเพิ่มขึ้นของรายได้และผลิตผลของเกษตรกรรายย่อย 100% และ 5) การลดจำนวนการสูญเสียอาหารและการทิ้งขว้างอาหารให้เหลือศูนย์ อย่างไรก็ตาม ในการเข้าร่วมประชุมเอฟ เอ โอ ครั้งนี้ ยังมีโอกาสได้หารือระดับทวิภาคร่วมกับประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น ประเทศลาว และฟิลิปปินส์ เพื่อชวนรัฐมนตรีจากกลุ่มประเทศอาเซียน เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน 2560 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประเทศไทยโดยกระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพแล้ว ยังได้หารือถึงความร่วมกันสนับสนุนการจัดตั้งทีมปฏิบัติการเฉพาะกิจที่คณะทำงานประมงอาเซียน เพื่อจะได้มีกลไกในการพัฒนานโยบายประมงร่วมอาเซียน ที่ชัดเจนและโปร่งใส ภายใต้การกำกับการดำเนินงานของคณะทำงานประมงอาเซียน ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดร่วมกันในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียนด้วย และประเด็นสุดท้าย คือ การขยายความร่วมมือด้านวิชาการการเกษตร การแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคด้านการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการค้าและการลงทุนสินค้าเกษตรระหว่างกันมากยิ่งขึ้นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ