UNODC ร่วมกับ TIJ เผยข้อมูลจากรายงานล่าสุด กระบวนการค้ามนุษย์จากประเทศเพื่อนบ้านสู่ไทย เสนออุดช่องโหว่ของแรงจูงใจ ร่วมกับการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday August 11, 2017 17:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--เอบีเอ็ม สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เผยผลวิจัย "ปัญหาการค้ามนุษย์จากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา มายังประเทศไทย" (Trafficking in Persons from Cambodia, Lao PDR, and Myanmar, to Thailand) โดยระบุหากต้องการแก้ไขปัญหาต้องเริ่มจากการเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ของการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานแบบผิดปกติจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน โดยงานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติและองค์กรในประเทศไทย ในการสำรวจสถานการณ์การค้ามนุษย์ในภูมิภาค ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการในกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพหลายมาตรการประกอบกัน เพื่อปราบปรามเครือข่ายการค้ามนุษย์ โดยยังคงสามารถปกป้องสิทธิของผู้ถูกค้ามนุษย์ และเอื้อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานอย่างถูกกฎหมาย รายงานวิจัยได้ระบุประมาณการตัวเลขของผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 4 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 90 มาจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา โดยผู้อพยพจำนวนมากเข้ามายังประเทศไทยด้วยวิธีการที่ผิดปกติ และเมื่อเข้ามาแล้วก็ยังคงสถานะของผู้เข้าเมืองโดยมีสถานะผิดปกติในทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น ความเสี่ยงจากการถูกหลอกล่อ ถูกกรรโชก ต้องเผชิญกับความรุนแรง และถูกแสวงหาประโยชน์ จึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในระหว่างการเดินทางเท่านั้น แต่สภาพการณ์เหล่านี้ยังคงอยู่เมื่อเดินทางมาถึงสถานที่ปลายทางด้วยเช่นกัน และพบว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะทวีขึ้นในกลุ่มเด็กที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์มายังประเทศไทยนั้นมีหลายเหตุผลด้วยกัน รูปแบบที่พบได้ทั่วไปคือ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์มักถูกชักจูงโดยผู้ค้ามนุษย์ โดยอาศัยจุดอ่อนที่ต้องการได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นมาเป็นเหยื่อล่อ ร่วมกับการทำร้ายร่างกายหรือข่มขู่ให้ทำงานในอุตสาหกรรมประมงหรือก่อสร้าง นอกจากนี้ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก ยังถูกลักลอบข้ามแดนเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศอีกด้วย การขาดแคลนสถิติและข้อมูลอ้างอิง เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการรับมือกับขบวนการค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชีย รายงานฉบับนี้จึงมุ่งหยิบยกประเด็นให้เห็นช่องว่างที่เกิดขึ้น เพื่อการทำความความเข้าใจในขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย รวมถึงการลักลอบค้าแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานซึ่งมีความเกี่ยวข้องกัน ส่วนประเด็นใหม่ในด้านอื่น ๆ ที่ปรากฏในรายงานครอบคลุมถึงลักษณะของผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้ค้ามนุษย์ ปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันและเหตุจูงใจให้คนเข้ามาในแต่ละช่วงเวลา เส้นทางการเข้าเมืองอย่างถูกต้องและการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่ขบวนการค้ามนุษย์ใช้ ค่าใช้จ่ายที่ผู้ตกเป็นเหยื่อต้องจ่ายให้กับผู้ลักลอบค้าแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ค้ามนุษย์ พฤติกรรมและวิธีการที่ผู้ค้ามนุษย์และเครือข่ายใช้ นอกจากนี้ รายงานยังได้สำรวจภาวการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา กลายเป็นประเทศต้นทางของคนส่วนใหญ่ที่ผ่านขบวนการค้ามนุษย์เข้ามาในประเทศไทย นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ชี้ว่ามีความจำเป็นที่ต้องมองภาพสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศปลายทางให้ครบในทุกมิติ โดยกล่าวว่า "ตอนนี้เราเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น โดยในรายงานได้ระบุประเด็นของความท้าทายและโอกาสในการบังคับใช้กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ร่วมกัน เนื้อหาในรายงานฉบับนี้ถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ได้รับการรวบรวมไว้ เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดความร่วมมือและให้การสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่น ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงนอกเหนือจาก 4 ประเทศที่ร่วมอยู่ในรายงาน" ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า "การค้ามนุษย์ในภูมิภาคของเราเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และเป็นประเด็นที่ TIJ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะพยายามอย่างมากในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ แต่ก็ไม่ใช่ภารกิจที่จะสำเร็จได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นการกระทำผิดที่มีรูปแบบซ่อนเร้นทั้งในฝ่ายผู้ค้ามนุษย์ไปจนถึงเหยื่อการค้ามนุษย์" ทั้งนี้ การค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตา โดยเป็นประเด็นที่ TIJ ให้ความสำคัญและดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยจัดให้มีเวทีหารือและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างไม่เป็นทางการ ในการแบ่งปันข้อมูลและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการจัดทำรายงานการค้ามนุษย์ในประเทศไทยส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ดำเนินงานในด้านนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นครั้งแรกของ TIJ และสถาบันวิจัยอาชญากรรมและความยุติธรรมระหว่างภูมิภาคแห่งสหประชาชาติหรือ UNICRI ที่ได้เข้าร่วมโครงการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อประเมินว่าการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งการค้ามนุษย์ และความสามารถของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยใช้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามและความท้าทายของการก่ออาชญากรรมข้ามชาติได้ "ผมเชื่อว่า ความไม่เสมอภาคทางสังคม ความยากจน การขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและโอกาสในการหาเลี้ยงชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้คนฝ่าฝืนกฎหมาย ขณะเดียวกัน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์และลักลอบนำเข้าแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายได้มากขึ้น" ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าวและเสริมด้วยว่า "เพื่อจัดการกับขบวนการ ค้ามนุษย์ เราจึงควรมุ่งเน้นไปที่แนวทางการพัฒนาที่นำโดยการแก้ไขช่องโหว่และลดข้อเสียเปรียบของผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อ โดยการสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายในกลุ่มด้อยโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีและเข้าถึงการศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนจากโครงการอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะและเพิ่มโอกาสในการจ้างงานที่เท่าเทียมกันทั้งชายและหญิง เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงงานที่ดีและประกอบอาชีพในประเทศของตนเองได้อย่างเหมาะสม ในการนี้ เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals: SDGs จึงถูกนำมาใช้เป็นกรอบการทำงาน เพื่อช่วยให้จัดการกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น" ในอนาคต ก้าวสำคัญที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์คือ การส่งเสริมให้มีการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย และป้องปรามมิให้เกิดการค้าแรงงานอย่างผิดกฎหมาย เพื่อให้การเคลื่อนย้ายแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานเกิดประโยชน์สูงสุด การมีกลไกคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ จำเป็นต้องมีนโยบายระดับชาติที่มีการนำไปปฏิบัติ และบังคับใช้กฎอย่างจริงจัง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์และงบประมาณ เพื่อทำให้เป้าหมายในเชิงนโยบายกลายเป็นมาตรการที่วัดผลได้ในทางปฏิบัติ ดังนั้น เพื่อให้นโยบายได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยข้อมูลและการประกาศนโยบายที่ตามมาด้วยการนำไปปฏิบัติและการบังคับใช้ กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการค้ามนุษย์และการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ถือเป็นรากฐานสำคัญ ต่อการดำเนินการทางกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าว ความผิดทางอาญาเหล่านี้ จำเป็นต้องมีกรอบกฎหมายที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถสืบสวน จับกุมผู้ต้องหา อายัดอสังหาริมทรัพย์ และยึดสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้ องค์ประกอบที่สำคัญในการต่อสู่กับการค้ามนุษย์คือ การประสานความร่วมมือกันระหว่างประเทศในทุกระดับของรัฐบาล โดยเฉพาะการประสานกันระหว่างหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานตามชายแดน ผู้พิทักษ์ชายฝั่ง และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสืบสวนคดีค้ามนุษย์ การระบุตัวผู้ต้องสงสัย จับกุมผู้ต้องหา และยึดสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมดังกล่าว การนำกลไกต่าง ๆ มาใช้ เช่น การมีทีมสอบสวนร่วม ซึ่งต้องดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การประสานงาน ระหว่างประเทศในการบังคับใช้กฎหมายเกิดผลสัมฤทธิ์ การค้ามนุษย์เป็นปัญหาที่มีลักษณะซ่อนเร้น จึงมีความยากลำบากในการสำรวจศึกษากรณีต่าง ๆ และระบุว่าใครตกเป็นเหยื่อ ปัญหาการขาดแคลนข้อมูลนับเป็นความท้าทายระดับโลก และการขาดแคลนดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีกในเอเชีย ในส่วนของการเดินทางทางน้ำ การจราจรบริเวณน่านน้ำตามชายฝั่งของประเทศใดประเทศหนึ่งและระหว่างประเทศยังขาดการบริหารจัดการที่ดี จนไม่สามารถติดตามข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ดังนั้น การก่ออาชญากรรมซึ่งรวมถึงการลักลอบค้าแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน จึงซ่อนตัวอย่างแนบเนียนภายใต้การสัญจรประจำวันของคนทั่วไป และเพื่อจัดการกับปัญหาการลักลอบค้าแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน UNODC จึงได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลออนไลน์ที่ปลอดภัย เรียกว่า Voluntary Reporting System on Migrant Smuggling and Related Conduct (VRS-MSRC) เพื่อจัดเก็บและใช้เป็นฐานข้อมูลด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งนี้ นายเบนจามิน สมิท ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคของ UNODC กล่าวเน้นว่า "การที่กระแสการโยกย้ายถิ่นฐานมีการขยายตัวขึ้น และการเกิดอาชญากรรมต่าง ๆ เช่น การค้ามนุษย์และการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายก็มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ความร่วมมือกันของผู้รักษากฎหมายของประเทศต่าง ๆ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง" ปัจจุบันมีการรับรู้ถึงความจำเป็นของการเก็บรวบรวมข้อมูลและการจัดระบบเอกสารที่ดีขึ้น ในประเทศที่เป็นเป้าหมายของการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการมีมาตรการเบื้องต้นเพื่อรายงานการสืบสวน จับกุม ฟ้องร้อง ดำเนินคดี และการตัดสินลงโทษ ในคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างถูกต้อง ดังนั้น การพัฒนาวิธีการเก็บข้อมูลระดับประเทศอย่างเป็นระบบ โดยให้มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในการทำวิจัย ใช้อ้างอิงเพื่อคาดการณ์แนวโน้ม กำหนดรูปแบบ พัฒนานโยบาย และมาตรการตอบโต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ