กลุ่ม ปตท.ขับเคลื่อนองค์กร เชื่อมยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านแนวทางธุรกิจแบบมี ส่วนร่วม เตรียมความพร้อมการลงทุน มุ่งสู่ Thailand 4.0 สร้าง Pride and Treasure of Thailand

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 17, 2017 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ปตท. นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ได้ระดมความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงและกรรมการบริษัท เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนองค์กรให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้ความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน และเป็นกลไกในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ เตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในอนาคต สร้างความแข็งแกร่งจากภายในโดยการปรับโครงสร้างธุรกิจให้เพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปตท.ได้กำหนดกรอบการลงทุนในอนาคตให้สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDG) โดยมุ่งเน้นการลงทุนที่ให้สังคมและชุมชนมีส่วนร่วม (Inclusive Business) มากขึ้นโดยเฉพาะทิศทางกลยุทธ์ด้าน Treasure กลุ่ม ปตท.ได้ใช้แนวทาง "PTT 3D" อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับกลยุทธ์ การเป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ (Pride) โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้ทิศทางยุทธศาสตร์ชาติสู่ไทยแลนด์ 4.0 แนวทาง PTT 3D ได้แก่ กลยุทธ์ Do Now คือ การมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อสร้างรายได้และลดต้นทุนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการนำระบบดิจิตอลมาประยุกต์ใช้ในองค์กรทุกภาคส่วนพร้อมกับการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน กลยุทธ์ Decide Now เป็นการขยายการเติบโตที่ต้องเร่งตัดสินใจ เพื่อนำไปสู่การลงทุนของธุรกิจในอนาคตให้สอดคล้องกับศักยภาพทางการเงินของกลุ่ม ปตท. โดยการขยายการลงทุนในธุรกิจหลัก การลงทุนในสายโซ่อุปทานของก๊าซธรรมชาติเหลว การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการแสวงหาโอกาสลงทุนในภูมิภาคและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลยุทธ์ Design Now คือการเร่งสร้างธุรกิจใหม่ให้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต โดยการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองทิศทางโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าด้านไฟฟ้า (Electricity Value Chain) และธุรกิจใหม่ภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าด้านชีวภาพ (Bio-Based Value Chain) เป็นต้น นายเทวินทร์ กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.เตรียมลงทุนใน 5 ปี (2560 - 2564) โดยเน้นลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ประกอบด้วย โครงการคลังแอลเอ็นจี โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โครงการปรับปรุงโรงกลั่นและปิโตรเคมี และโครงการธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เช่น อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Industry) หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Robotics) รวมทั้ง โครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่ง ปตท. ได้ลงนาม MOU ร่วมกับ สวทช. และองค์กรสนับสนุน 50 หน่วยงานในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ นอกจากการลงทุนแล้ว กลุ่ม ปตท.ก็ได้เตรียมความพร้อมด้านงานบริหาร ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจน้ำมันให้แข่งขันได้อย่างเสรี การปรับโครงสร้างการถือหุ้นธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ การตั้งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) เพื่อเป็นศูนย์กลางที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร การจัดโครงสร้างธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนจัดโครงสร้าง "กองทุนร่วมลงทุน" (Corporate Venture Capital หรือCVC) และ "ทีมสรรหาธุรกิจใหม่" (Express Solutions หรือ ExpresSo) เพื่อลงทุนต่อยอดธุรกิจในอนาคต รวมทั้งมีการตั้งหน่วยงานกำกับกฎระเบียบองค์กร เพื่อความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และการเตรียมความพร้อมบุคลากรในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นายเทวินทร์ กล่าวว่า เพื่อให้ ปตท.เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ (Pride) จึงได้ยกระดับการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ผ่านการจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งจะเปิดตัวในเร็วๆนี้ โดยองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่จัดตั้งขึ้นนี้จะดำเนินการแสวงหาการลงทุนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ อาทิ เช่น โครงการคาเฟ่ อเมซอนสำหรับผู้ด้อยโอกาส โครงการจัดหาเมล็ดกาแฟจากชุมชนสำหรับร้านคาเฟ่ อเมซอน เครื่องสูบน้ำพลังงานสะอาด ศูนย์พัฒนาศักยภาพเด็กก่อนประถมวัย เป็นต้น "ปัจจุบัน กลุ่ม ปตท.มีความพร้อมในการจัดหาเงินลงทุน เพื่อส่งเสริมทิศทางการดำเนินธุรกิจให้เข้มแข็งต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานของ ปตท.และบริษัทย่อยในไตรมาส 2 ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 31,317 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่แล้วจำนวน 14,851 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 77,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,937 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 59.6 จาก 48,548 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559" นายเทวินทร์ กล่าวสรุป
แท็ก thailand   ปตท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ