ปภ.ประสาน 10 จังหวัดภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ช่วงวันที่ 17 – 19 ส.ค. 60

ข่าวทั่วไป Friday August 18, 2017 13:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 10 จังหวัดภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฝ้าระวังภาวะน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยในช่วงวันที่ 17 – 18 สิงหาคม 2560 จะมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ส่วนในวันที่ 19 สิงหาคม 2560 จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมวลน้ำที่ไหลมาสมทบรวมกับการระบายน้ำจากเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ อาจส่งผลให้บริเวณพื้นที่ที่มีน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังอยู่เดิม โดยเฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อาจมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยเน้นย้ำให้จังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลายตรวจสอบข้อมูลความเสียหายจากอุทกภัยเชิงพื้นที่ทั้งด้านชีวิต และที่อยู่อาศัย พร้อมจัดทำประมาณการงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งค่าสงเคราะห์จัดการศพผู้เสียชีวิต และค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หากไม่เพียงพอให้จังหวัดเสนอวงเงินงบประมาณที่ต้องการขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการดำรงชีพ การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมเริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์สภาวะอากาศและปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร พบว่า ในช่วงวันที่ 17 – 19 สิงหาคม 2560 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ แยกเป็น ช่วงวันที่ 17 – 18 สิงหาคม 2560 จะมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูลอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม ส่วนในวันที่ 19 สิงหาคม 2560 จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมวลน้ำที่ไหลมาสมทบรวมกับการระบายน้ำจากเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ อาจส่งผลให้บริเวณพื้นที่ที่มีน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังอยู่เดิม โดยเฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีอาจมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 10 จังหวัด รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือฝนตกเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศเพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณฝน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูง สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ที่ลาดชันเชิงเขา และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ กรณีมีฝนตกหนักถึงหนักมากปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรต่อวัน ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ