กรมประมง เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์และทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมพิธีวาง “ปะการังเทียม” ฟื้นทะเล-ชุมชนชีวิตคนชายฝั่ง

ข่าวทั่วไป Wednesday September 20, 2017 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--ซีพีเอฟ กรมประมง เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีวาง "ปะการังเทียม" ฟื้นทะเล-ชุมชนชีวิตคนชายฝั่งให้กับชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา และอ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ตามโครงการความร่วมมือการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายสุปรี เบ้าสิงห์สวย ผู้แทนมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์และดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานโยบายเชิงกลยุทธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายกชกร รักษาสรณ์ นายอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กลุ่มเอ็นจีโอและชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมพิธีวาง "ปะการังเทียม" ฟื้นทะเล-ชุมชนชีวิตคนชายฝั่ง ให้กับชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา และ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ตามโครงการความร่วมมือการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ณ หาดมหาราช อ.สทิงพระ จ.สงขลา ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การจัดวางปะการังเทียมครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าในระยะที่ 1 จากการลงนามในโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งภาคตะวันออกอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ระหว่างกรมประมง เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์และบริษัท ทรู คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยกรมประมงเป็นตัวแทนส่งมอบปะการังเทียมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อนำปะการังดังกล่าวไปส่งมอบให้กับชุมชนชายฝั่งใน 2 พื้นที่เพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ได้สอดคล้องกับแนวทางของกรมประมง ที่มุ่งมั่นสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลให้ถูกต้องตามขั้นตอนและกฎหมายการเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตประมงและสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยมีจำนวนน้อยลงเป็นอย่างมาก บางชนิดเสี่ยงกับภาวะใกล้สูญพันธุ์ โดยผลจากการร่วมมือการวางปะการังเทียมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือฯครั้งนี้ ที่คาดว่าจะได้รับคือ จะเป็นแหล่งอาศัย เลี้ยงตัว วางไข่และหลบภัยของสัตว์น้ำ และช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งประมง ชาวประมงสามารถใช้ประโยชน์จากการทำประมงอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การวางปะการังเทียมให้กับชุมชนชายฝั่งในพื้นที่อ. สทิงพระ จ. สงขลา และ อ. ปะนาเระ จ. ปัตตานี ครั้งนี้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญจากการร่วมมือของกรมประมงและเครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ได้สอดคล้องกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายความยั่งยืนภายใต้กรอบ SDGs (Sustainable Development Goals) โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่เพียงมุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนขององค์กร แต่ยังมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและประเทศด้วย โดยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ ให้ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนให้เป็นจริงขึ้นมา การวาง "ปะการังเทียม" ให้กับชุมชนชายฝั่งในพื้นที่อ.สทิงพระ จ.สงขลา และ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานีเป็นโครงการจัดสร้างปะการังเทียมระยะที่ 1 จำนวน 1,000 แท่ง ที่มีความพร้อมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่หรือชุมชนที่ตั้ง ถือเป็นโครงการนำร่องการสร้างปะการังเทียมจำนวน 2,000 แท่ง ภายในเวลา 1 ปีให้กับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย 4 แห่งใน 3 จังหวัดได้แก่ 1. ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา 2. ชุมชนชายฝั่งทะเล ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา 3. ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และ 4. ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยปะการังเทียมที่ใช้เป็นวัสดุแท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 1.5x1.5x1.5 เมตร นายศุภชัยกล่าวว่า การวางปะการังเทียมครั้งนี้จะช่วยสร้างระบบนิเวศน์ทางทะเลให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยปะการังเทียมจะเป็นที่อยู่ ที่หลบภัยและที่เพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำมีจำนวนมากขึ้นและชาวประมงสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ ผลที่เกิดขึ้นคือ ชุมชนประมงชายฝั่งมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก่อเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในชุมชน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนตามมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ