การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะและกฎหมายเงินคงคลังตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday October 10, 2017 15:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Focus Group) ต่อการแก้ไขกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะและกฎหมายเงินคงคลัง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาคการเงินการคลัง รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการเข้าร่วมระดมความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยร่างกฎหมายที่จัดการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีหลักการสำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูปการบริหารเงินสดและการกู้เงินของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญ 2 ประเด็นดังนี้ ประเด็นที่ 1 : การเพิ่มเติมอำนาจกระทรวงการคลังในกู้เงินเพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง เนื่องจากภายใต้กฎหมายปัจจุบันรัฐบาลไม่มีกรอบวงเงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง (Cash Management) เป็นการเฉพาะ จึงส่งผลให้การบริหารเงินคงคลังและการวางแผนการกู้เงินที่ผ่านมามีข้อจำกัดและเกิดต้นทุนในการบริหารเงินสด ร่างกฎหมายที่แก้ไขนี้จึงได้บัญญัติให้กระทรวงการคลังสามารถออกตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) อายุไม่เกิน 120 วัน เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลังได้เป็นครั้งคราวเมื่อมีความจำเป็นต้องรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งตั๋วเงินคลังที่ออกเพื่อบริหารสภาพคล่องดังกล่าว จะมียอดคงค้างได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และต้องมีการรายงานยอดตั๋วเงินคลังคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณต่อรัฐสภาด้วย ประเด็นที่ 2 : การขยายระยะเวลากู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปี เนื่องจากตามกฎหมายปัจจุบันการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณนั้นๆ ในขณะที่กระบวนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในแต่ละปี หน่วยงานภาครัฐที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในปีงบประมาณ จะมีการขออนุมัติเพื่อกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีได้ ส่งผลให้รัฐบาลมีต้นทุนการถือครองเงินสดในส่วนที่ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลฯ มาทั้งจำนวนโดยไม่จำเป็น ดังนั้น จึงได้แก้ไขกฎหมายเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถขยายระยะเวลากู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีได้ และกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินในกรณีดังกล่าวได้ไม่เกินวงเงินที่มีการอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องประกาศวงเงินกู้ที่มีการขยายเวลากู้เงินในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย การแก้ไขกฎหมายตามหลักการข้างต้นนี้สอดคล้องกับร่างกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกำหนดให้ "การบริหารเงินคงคลังจะต้องรักษาไว้ในระดับที่จำเป็นเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการเบิกจ่ายเพื่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการบริหารสภาพคล่อง" และ "การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานะของเงินคงคลัง โดยคำนึงถึงประมาณการรายได้และแผนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในแต่ละช่วงเวลา" โดย สบน. คาดหวังว่า เมื่อกฎหมายทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับจะทำให้กระทรวงการคลังมีกลไกการบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการเงินคงคลัง ตลอดจนการวางแผนการกู้เงินของรัฐบาลโดยรวม และที่สำคัญจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายอันเกิดจากต้นทุนเงินกู้ (carry cost) ที่แฝงอยู่ในเงินคงคลังลงได้ ทั้งนี้ สบน. คาดว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 อนึ่ง นอกจากการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นข้างต้นแล้ว สบน. ยังได้มีการเผยแพร่ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ด้วย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ในระหว่างวันที่ 3 – 17 ตุลาคม 2560

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ