สศอ. เผยเตรียมศึกษาแผนพัฒนาอุตฯ ปาล์มน้ำมัน เชื่อมโยงสู่อุตฯ เป้าหมาย

ข่าวทั่วไป Thursday October 12, 2017 15:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสหากรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสหากรรม (สศอ.) เผย ได้เตรียมศึกษาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพตามโรดแมปประเทศไทย 4.0 และการยกระดับทางไบโออีโคโนมี พร้อมผลักดัน 2 ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีที่มีศักยภาพสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ คาดหากมีนโยบายส่งเสริมโอเลโอเคมี มูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2570 จะเพิ่มขึ้นเป็น 608,975 ล้านบาท นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เผย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้เร่งศึกษาแผนที่จะนำไปสู่แนวการปฏิบัติในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเพื่อเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมี ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ (Biofuels and biochemical) 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ โดยจะส่งผลต่อการสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงของปาล์มน้ำมันในระยะยาว และแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ของปาล์มน้ำมันได้ดียิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นจะต้องมีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเลโอเลเคมีที่สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) จากปาล์มน้ำมัน เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาผลผลิตเกษตร สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรและเพิ่มโอกาสในการลงทุนกับภาคอุตสาหกรรม การมีนโยบายส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องและเกิดการผลิตโอเลโอเคมีเพื่อทดแทนการนำเข้า รวมถึงการส่งออกจะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนยกระดับเทคโนโลยี ตลอดจนยกระดับนวัตกรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีจากปาล์มน้ำมัน คือ การผลิตสารเคมีที่สกัดหรือสังเคราะห์ได้จากกรดไขมันต่าง ๆ ที่มาจากปาล์มน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาปาล์มน้ำมันถูกนำไปแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อการบริโภค ได้แก่ น้ำมันปาล์ม และพลังงาน ได้แก่ ไบโอดีเซล เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่การนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยังไม่มีแนวนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมที่ชัดเจน ประกอบกับการที่ต้องใช้เงินลงทุน ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการผลิตที่ยังไม่เป็นที่รู้จักดีในวงการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ยังขาดการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงนโยบาย กฎระเบียบ สภาวะการแข่งขัน การผลิต เศรษฐศาสตร์ การตลาด เทคโนโลยี และการวิเคราะห์ความเสี่ยงทั้งจากภายในและต่างประเทศ ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แม้ว่าผลิตภัณฑ์จะมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นต้น เช่น น้ำมันพืชหรือไบโอดีเซลก็ตาม จากการศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจปี 2559 พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจโอเลโอเคมีอยู่ที่ 218,150 ล้านบาท ในขณะที่การคาดการณ์ปี 2570 ของห่วงโซ่คุณค่าโอเลโอเคมีของไทย พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นเป็น 472,903 ล้านบาท โดยหากมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมโอเลโอเคมี คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2570 จะเพิ่มขึ้นเป็น 608,975 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องมีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีที่มีศักยภาพเพื่อเป็นทางเลือกของไทยในการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม โดยระดมความเห็นและเก็บข้อมูลผู้เกี่ยวข้อง เบื้องต้นมีจำนวน 21 ผลิตภัณฑ์ และให้คะแนนคัดเลือกตามเกณฑ์จนได้ 2 ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีที่มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ คือ เมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนต (Methyl Raster Sulfonate : MES) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสารลดแรงตึงผิว (ถูกผสมในผงซักฟอก) ที่มีคุณสมบัติที่สามารถย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุนพบว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 384 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Internal Rate on Return : IRR) ที่ร้อยละ 35.87 ระยะเวลาคืนทุน 3.41 ปี กลีเซอรีนบริสุทธิ์ (Refined glycerin) ซึ่งมีคุณสมบัติใช้เป็นสารป้องกันการแข็งตัว เป็นสารบำรุงผิว จึงมักถูกใช้ในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (เครื่องสำอาง) รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยาสูบ สีและกาว โดยราคาจะผันผวนตามราคาปิโตรเคมี เนื่องจากปัจจุบันกลีเซอรีนส่วนใหญ่ได้มาจากการผลิตไบโอดีเซล ทั้งนี้ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุนพบว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 188 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ร้อยละ 36.12 ระยะเวลาคืนทุน 3.80 ปี นายศิริรุจ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งในการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมี เนื่องจากมีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต และอุตสาหกรรมปลายน้ำที่เป็นฐานลูกค้าภายในประเทศ รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้แห่งวัตถุดิบปาล์มที่สำคัญของโลก จึงเห็นโอกาสที่โอเลโอเคมีจากปาล์มน้ำมันจะทดแทนโอเลโอเคมีจากพืชน้ำมันชนิดอื่นของสหรัฐและยุโรป ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจึงได้เร่งศึกษาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีจากปาล์มน้ำมันมีรายละเอียด ดังนี้ การปรับปรุงกฎระเบียบ ที่มีผลต่อห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมโอเลโอเคมี ได้แก่ การปรับปรุงกฎระเบียบที่มีผลต่อการพัฒนาหาการตลาดโอเลโอเคมีตลอดห่วงโซ่คุณค่าหรือการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การกำหนดมาตรการใช้เมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนตในผงซักฟอกปริมาณร้อยละ 10 และเพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ตลอดจนการสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับโอเลโอตลอดห่วงโซ่คุณค่า การปรับโครงสร้างและจัดตั้งหน่วยงานบูรณาการเฉพาะกิจสำหรับปาล์มและโอเลโอเคมี โดยจะเร่งจัดทำข้อเสนอปรับโครงสร้าง เพื่อจัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่บูรณาการส่งเสริมและพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่าเหมือนในกรณี Malaysian Palm Oil Council (MOPC) ของมาเลเซีย การบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อการแข่งขันทั้งระบบห่วงโซ่คุณค่าของปาล์มน้ำมันและโอเลโอเคมี อาทิ เพิ่มผลิตภาพแรงงานและลดต้นทุนแรงงานด้วยการเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องทุนแรง รวมถึงการเจราจาความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างของระดับราคาวัตถุดิบ (น้ำมันปาล์ม) กับประเทศผู้นำด้านโอเลโอเคมี ส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพปลายน้ำทั้งโอเลโอเคมีและผู้ใช้ขั้นปลาย (End user) ทั้งในส่วนของการผลิตและการตลาด ส่งเสริมการผลิตสารอนุพันธ์ของโอเลโอเคมีพื้นฐาน จัดตั้งศูนย์วิจัยการพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมี และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจากแบบเดี่ยวไปสู่ศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพ (Biorefinery complex) โดยตั้งเป้าหมายให้มีการใช้โอเลโอเคมีในอุตสาหกรรมผู้ใช้ขั้นปลายเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ภายในปี 2570

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ