สมาคมการขายตรงไทย คว้าการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลกปี 2020 WFDSA 2020 World Congress

ข่าวทั่วไป Thursday October 19, 2017 10:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ สมาคมการขายตรงไทย (TDSA : Thai Direct Selling Association) โชว์ศักยภาพเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสมาพันธ์การขายตรงโลก (World Federation of Direct Selling Associations) "WFDSA 2020 World Congress" ครั้งที่ 16 ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมร่วม 1,000 คน จากกว่า 60 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนสมาคมขายตรงประเทศต่างๆ กลุ่มบริษัทผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ประเทศประมาณ 100 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้เป็นการแสดงถึงศักยภาพ ความแข็งแกร่ง ได้มาตรฐานของสมาคมการขายตรงไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นางสุชาดา ธีรวชิรกุล นายกสมาคมการขายตรงไทย เผยว่า "นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลก WFDSA 2020 World Congress ที่กำหนดจัดขึ้นทุก 3 ปี โดยปีล่าสุด 2017 จัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และจากที่ประชุมของคณะกรรมการสมาพันธ์ฯ โหวตให้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดประชุมในปี 2020 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความแข็งแกร่ง มาตรฐาน ของสมาคมการขายตรงไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และความพร้อมของประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจากสมาคมการขายตรงประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์การขายตรงโลก, หน่วยงานภาครัฐ, หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค, สถาบันการศึกษา, สื่อมวลชน ร่วม 1,000 คน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ประเทศประมาณ 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยกำหนดจัดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020" การประชุม WFDSA 2020 World Congress ที่จะจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมส่งเสริมการดำเนินธุรกิจขายตรง รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์และแสดงศักยภาพของธุรกิจขายตรง ในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจโลก และคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนากฎหมาย และทักษะด้านการบริหารจัดการใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขายตรง โดยในปี 2016 ที่ผ่านมา มีนักขายตรงทั่วโลกถึง 107 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.1% จากปี 2015 และมีมูลค่าตลาดรวมธุรกิจขายตรงทั่วโลกอยู่ที่ 182.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปี (ปี 2013 – 2016) อยู่ที่ 5.2% โดยภูมิภาคที่มีสัดส่วนยอดขายสูงสุดได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีสัดส่วนยอดขายถึง 46% มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 6.7%, ภูมิภาคอเมริกา มีสัดส่วนยอดขาย 33% โดยเติบโตเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 3.3%, ในขณะที่ภูมิภาคยุโรป มีสัดส่วนยอดขาย 20% เติบโตเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 4.9% และ แอฟริกา / ตะวันออกกลาง มีสัดส่วนยอดขาย 1% โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 6.0% "สำหรับตลาดขายตรงในภูมิภาคอาเซียน มีสัดส่วนยอดขายเป็น 6% ของโลก โดยมาเลเซียเป็นอันดับ 1 ตามด้วยไทย เป็นอันดับ 2 อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ อันดับ 4 อินโดนีเซีย อันดับ 5 เวียดนาม และอันดับ 6 สิงคโปร์ โดยทั้ง 6 ประเทศนี้เป็นสมาชิกของสมาพันธ์การขายตรงโลก ที่ล่าสุดได้มีการจัดประชุม ASEAN's DSA เมื่อกลางปีที่ผ่านมาในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสมาคมในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ การทำตลาด และการดำเนินการอย่างดีที่สุด พร้อมทั้งสร้างประโยชน์ในระดับภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจใน AEC ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังร่วมมือกันต่อต้านแชร์ลูกโซ่ ส่วนภาพรวมของตลาดขายตรงไทยในสิ้นปี 2017 ประมาณการที่ 95,000 ล้านบาท โดยเติบโตเพียง 2-3% จากปี 2016 เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตช้า ทำให้กำลังซื้อลดลงในบางกลุ่ม รวมทั้งการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สกินแคร์ และเครื่องสำอาง เป็นสินค้าที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา สำหรับปี 2018 หวังโต 5% สืบเนื่องจากอุตสาหกรรมขายตรงสามารถปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลได้เร็ว ในขณะที่ยุคดิจิทัลมีการสร้างคอมมิวนิตี้ อยู่ร่วมกันด้วยความสนใจเดียวกัน ซึ่งธุรกิจขายตรงมีลักษณะงานเป็นคอมมิวนิตี้ สามารถเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งสินค้ายังมีความหลากหลาย ครอบคลุมหลายประเภท รวมทั้งมีผู้ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจขายตรง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 8 – 10% ซึ่งเวลานี้มีนักธุรกิจขายตรงไทยกว่า 11 ล้านคน ด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่งจึงทำให้อุตสาหกรรมขายตรงไทยเป็นหนึ่งในธุรกิจฟันเฟืองขนาดใหญ่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและก้าวหน้ายิ่งขึ้น ด้วยการเป็นธุรกิจที่มอบโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ผู้คนที่พร้อมจะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง" นายกสมาคมการขายตรงไทยกล่าวปิดท้าย
แท็ก ขายตรง   FED  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ