กรมประมง...เร่งช่วยเหลือเกษตรกรหลังพายุทกซูรีสร้างความเสียหาย ด้านประมงครอบคลุมพื้นที่ 30 จังหวัด รวมมูลค่ากว่า 167 ล้าน ล่าสุด ครม.อนุมัติงบเยียวยาภาพรวมแล้ว 4.7 พันล้าน

ข่าวทั่วไป Wednesday November 15, 2017 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--กรมประมง นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุ ทกซูรี ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่และฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคการเกษตรจำนวนมาก จากสภาวะดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายในด้านประมงหลายพื้นที่ โดยมีรายงานสถานการณ์ความเสียหายของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 (ด้านประมง) ช่วงระหว่างวันที่ 15 กันยายน – 9 พฤศจิกายน 2560 (ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560) โดยมีจังหวัดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ 30 จังหวัด 112 อำเภอ ได้แก่ ลำปางอุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย เชียงราย พิษณุโลก แพร่ พะเยา นครสวรรค์ อุทัยธานี ตาก พิจิตร ขอนแก่น เลย สุรินทร์ ชัยภูมิ หนองบัวลำภู นครราชสีมา มหาสารคาม สระแก้ว สิงห์บุรี อ่างทองชัยนาท สุพรรณบุรี ลพบุรี กรุงเทพฯ ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สตูล และตรัง รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 12,523 ราย จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับความเสียหายประมาณ 14,045 ไร่ 2,804 ตารางเมตร ประมาณการมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 167,440,524 บาท โดยกรมประมงได้สั่งการเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเบื้องต้น และสำรวจความเสียหายแท้จริงหลังน้ำลด เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลเกษตรกรแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้ 1. กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล ปูทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 10,920 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ 2. ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นนอกเหนือจากข้อ 1 ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,225 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ 3. สัตว์น้ำตามข้อ 1 และข้อ 2 ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 315 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร ทั้งนี้ หากคำนวณพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใดจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินต่ำกว่า 315 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 315 บาท นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด กรอบวงเงินงบประมาณ 4,717.36 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ทั้งนี้เกษตรกรสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ/ สำนักงานประมงจังหวัด/ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง โทรศัพท์ 0 2558 0218 และ 0 2561 4740

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ