ทำไมต้องประชาสัมพันธ์การสอบนักธรรม

ข่าวทั่วไป Monday November 26, 2007 11:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
พระพจนารถ ปภาโส
เลขานุการฝ่ายนโยบายและแผน
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
แต่ครั้งสมัยสุโขทัยเป็นต้น พระมหากษัตราธิราชเจ้า ทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมเสมอมา ทรงโปรดให้ราชบัณฑิตผู้ทรงภูมิพระปริยัติธรรม เป็นเปรียญลาพรต รับภารธุระบอก(สอน)หนังสือตามคัมภีร์พระไตรปิฎกแก่พระสงฆ์ ในสถานที่จัดไว้ในพระบรมมหาราชวัง ทรงจัดให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมเป็นทางการ ซึ่งการสอบนี้เรียกโดยสามัญว่า การสอบสนามหลวง
ในรัชสมัยปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายความอุปถัมภ์แด่พระสงฆ์เหมือนบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าเสมอมา ดังความที่ปรากฏในประกาศนียบัตรผู้สอบธรรมสนามหลวงได้ ความว่า โดยพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดให้มีสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวง
เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจในการสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวง ขอนำประวัติการศึกษาแผนกนี้มาเสนอโดยสังเขป ดังนี้
การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม หรือที่เรียกกันว่า นักธรรม เกิดขึ้นตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นการศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทย เพื่อให้ภิกษุสามเณรผู้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนา สามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้สะดวกและทั่วถึง อันจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่สัมมาปฏิบัติ ตลอดจนเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงกำหนดหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น ต่อมาทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมนั้นเป็น “องค์นักธรรม” สำหรับภิกษุสามเณรชั้นนวกะ (คือผู้บวชใหม่) ทั่วไป ได้รับพระบรมราชานุมัติ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ และโปรดให้จัดการสอบในส่วนกลางขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน โดยใช้วัดบวรนิเวศวิหาร วัดมหาธาตุ และวัดเบญจมบพิตร เป็นสถานที่สอบ การสอบครั้งแรกนี้ มี ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาคในนวโกวาท, แต่งความแก้กระทู้ธรรม และแปลภาษามคธเฉพาะท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มหลักธรรมหมวดคิหิปฏิบัติเข้าในส่วนของธรรมวิภาคด้วย เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการครองชีวิตฆราวาส หากภิกษุสามเณรรูปนั้นๆ มีความจำเป็นต้องลาสิกขาออกไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี การศึกษาพระธรรมวินัยแบบใหม่นี้ ได้รับความนิยมจากหมู่ภิกษุสามเณรอย่างกว้างขวาง และแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว เพียง ๒ ปีแรกก็มีภิกษุสามเณรสมัครเข้าสอบสนามหลวงเกือบ ๑,๐๐๐รูป เมื่อทรงเห็นว่าการศึกษานักธรรมอำนวยคุณประโยชน์แก่พระศาสนาและภิกษุสามเณรทั่วไป
ในเวลาต่อมา จึงทรงพระดำริขยายการศึกษานักธรรมให้ทั่วถึงแก่ภิกษุทุกระดับ คือ ทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโท สำหรับภิกษุชั้นมัชฌิมะ คือ มีพรรษาเกิน ๕ แต่ไม่ถึง ๑๐ และ นักธรรม ชั้นเอก สำหรับภิกษุชั้นเถระ คือมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป ดังที่เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์สืบมาตราบถึงทุกวันนี้
ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ ทรงพิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมมิได้เป็นประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรเท่านั้น แม้ผู้ที่ยังครองฆราวาสวิสัยก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษานักธรรมด้วย โดยเฉพาะสำหรับเหล่าข้าราชการครู จึงทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมสำหรับฆราวาสขึ้น เรียกว่า “ธรรมศึกษา” มีครบทั้ง ๓ ชั้น คือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ซึ่งมีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมของภิกษุสามเณร เว้นแต่วินัยบัญญัติที่ทรงกำหนดใช้เบญจศีลเบญจธรรมและอุโบสถศีลแทน ได้เปิดสอบธรรมศึกษาตรีครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และเปิดสอบครบทุกชั้นในเวลาต่อมา มีฆราวาสทั้งหญิงและชายเข้าสอบเป็นจำนวนมาก นับเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมนี้ มี พระพรหมมุนี (พฺรหฺมคุตฺตเถร) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง เน้นการพัฒนาศาสนทายาทให้มีคุณภาพสามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี ทั้งถือว่าเป็นกิจการของคณะสงฆ์ส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งอดีตถึงปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ณ ศาลา ดุสิดาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙ ความว่า “.......คนดีทำให้คนอื่นดีได้ หมายความว่าคนดี ทำให้เกิดความดีในสังคม คนอื่นก็ดีไปด้วย ความเลวนั้นจะทำให้คนดีเป็นคนเลวก็ยาก แต่เป็นไปได้ ถ้าคนดีเข้มแข็งในความดี จะให้คนเลวมาทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก สำคัญอยู่ที่ความเข้มแข็งของคนดี คนเลวมิได้อยากให้คนอื่นเลว เพราะว่าถ้าคนอื่นเลว คนเลวนั้นแหละจะเดือดร้อน เขารู้ดีว่าถ้าคนเลวทำให้คนอื่นเลว ก็หมายความว่าคนนั้นจะเบียดเบียนตัวเขาเอง ก็คือเบียดเบียนคนที่เลวทำให้ยิ่งแย่เข้า ไม่มีใครอยาก ฉะนั้นที่มีความหวังว่าอีก ๕๐ ปีข้างหน้านี่ จำนวนคนเลวจะน้อยกว่าคนดี เพราะว่าคนเลวจะทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก ส่วนคนดีจะทำให้คนเลวเป็นดี ก็ไม่พ้นวิสัย ทำได้ จึงมีหวังว่าอนาคตจะแจ่มใส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องให้คนในสังคมนี้มีความตั้งใจ ถ้าไม่มีความตั้งใจแล้ว ก็เชื่อว่าตัวคนดีจะกลายเป็นคนเลวด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาชักชวน มันก็เลวไป ก็ลงเหวลงนรก......”
นับแต่สถาปนาประเทศไทยเป็นต้นมา พระสงฆ์ เป็นผู้รับภารธุระในการสอนพุทธธรรมแก่พุทธศาสนิกชน เพื่อเขาจักได้นำไปเป็นคติธรรมในการทำตนให้อยู่ในวิถีแห่งคนดี ตามพุทธบัญญัติและวัฒนธรรมประเพณีไทย อันเป็นส่วนสำคัญที่สร้างคนดีให้เพิ่มพูนขึ้นในประเทศไทย ตามพระราชดำรัสที่นำมานี้ ดังนั้นพระสงฆ์ผู้รับภารธุระนี้ ต้องเป็นผู้มีความรู้ในพุทธธรรมที่ตรงตามพุทโธวาท แต่การศึกษาพระไตรปิฎกโดยตรงในเบื้องต้นแห่งการอุปสมบท ย่อมเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ดังนั้นการเรียนรู้พุทธธรรมตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรม หรือนักธรรมนี้ จึงเป็นพื้นฐานแห่งการเรียนรู้พระไตรปิฎกในกาลต่อมาได้อย่างมีประสิทธิผล เมื่อมีความรู้พื้นฐานแล้ว ความประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์รูปนั้น ย่อมเป็นไปตามพระธรรมวินัย การอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนย่อมถูกต้องตามพุทโธวาท เหตุนี้จึงควรสนับสนุนให้พระสงฆ์ที่บวชใหม่ หรือนวกะภิกษุ ได้เรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ตามหลักสูตรนักธรรม นี้
การประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทราบถึง การสอบนักธรรม ของสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ย่อมเป็นการกระตุ้นให้พระนวกะได้ตระหนักถึงความเป็นผู้ต้องศึกษาพระปริยัติธรรม และเป็นการแจ้งให้สาธารณชน ผู้เป็นพุทธศาสนิกชน ได้ตระหนักว่า พระสงฆ์ที่ดำรงพุทธศาสนาตามวัฒนธรรมประเพณีไทย จะต้องเป็นผู้มีการศึกษาในพระธรรมวินัยตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ อันจักทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่อย่างวัฒนาสถาพรสืบไป สมดังพระราชปรารภใน พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ทรงนำพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท มาเป็นหลักใจของชาวสุโขทัย และปรับประยุกต์พุทธธรรมให้เป็นวัฒนธรรมประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน นี่เป็นการสร้างเอกลักษณ์แห่งความเป็นพุทธศาสนิกชนแบบไทยให้ปรากฏแก่สายตาของชาวโลก ด้วยเหตุนี้ คนไทยจึงปฏิบัติพระพุทธศาสนาไม่เหมือนชาติอื่น เพราะการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้นได้ถูกสร้างเป็นวัฒนธรรมประเพณีไทยแล้ว
ปีการศึกษา ๒๕๕๐ การสอบพระปริยัติธรรม แผนกธรรม หรือ นักธรรม เป็นการสอบครั้งที่ ๙๖ มีจำนวนนักเรียนสมัครสอบทั้งสิ้น ๑๖๖,๓๖๑ รูป จำแนกเป็น
- นักธรรมชั้นตรี ๑๐๘,๖๕๙ รูป
- นักธรรมชั้นโท ๔๑,๙๘๗ รูป
- นักธรรมชั้นเอก ๑๕,๗๑๕ รูป
เมื่อ ๒๐ — ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๐ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ได้จัดสอบความรู้ นักธรรมชั้นตรี ในสนามสอบทั่วประเทศจำนวน ๙๘๐ สนาม ในวันที่ ๒๖ - ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง จะจัดสอบความรู้ระดับ นักธรรมชั้นโท — ชั้นเอก ในสนามสอบทั่วประเทศจำนวน ๑๖๒ สนาม
ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้ จึงเป็นการสมควรที่จะประชาสัมพันธ์ การสอบนักธรรม ให้สาธารณชนได้ทราบ และจักเป็นการสนับสนุนให้พระสงฆ์ที่ตนเคารพนับถือ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ ทั้งเป็นแว่นธรรมส่องให้เห็นพระสงฆ์ที่ประพฤติปฏิบัติตรงตามพุทธธรรมและพุทธบัญญัติ ท่านเหล่านี้จะเป็นผู้เผยแผ่พุทธธรรมให้งอกงามไพบูลย์ในจิตใจของพุทธบริษัทสืบไป อันเป็นส่วนสนับสนุนให้ประเทศไทยมีคนดีเพิ่มมากขึ้น และเป็นการสนองพระราชปณิธานที่ทรงปรารภไว้ในพระราชดำรัส ให้ปรากฏเป็นจริงได้ในที่สุด
พุทธศาสนิกชนที่ประสงค์จะสนับสนุนการสอบนักธรรม สามารถสอบถามได้ที่วัดใกล้บ้าน หรือ ติดต่อที่ โทร. ๐ - ๒๒๘๐-๗๖๘๒, ๐-๒๖๒๙-๐๙๖๑, ๐ - ๒๖๒๙-๐๙๖๒ ต่อ ๑๑๖, ๑๑๗ โทรสาร. ๐ - ๒๖๒๙-๐๙๖๓ http://gongtham.dyndns.org/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ