20 ม.ค. - 20 ก.พ. กรมประมงเปิดขอใบอนุญาตทำประมง ชี้หากไม่มีใบอนุญาตโทษรุนแรง เตือนเรือประมงพาณิชย์รักษาสิทธิ์ ยื่นเรื่องก่อนขึ้นรอบการทำประมงใหม่ (2561-2562)

ข่าวทั่วไป Friday January 19, 2018 17:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--กรมประมง พระราชกำหนดการประมง 2558 ได้วางรากฐานการประมงไทยใหม่จากการทำการประมงโดย "เสรี" เป็นการทำการประมง "อนุญาต" ภายใต้ปริมาณผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน การออกใบอนุญาตทำการประมงให้กับเรือประมงจึงเป็นกระบวนการดำเนินการที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะอนุญาตให้เรือประมงเข้าทำการประมงในน่านน้ำไทย นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เนื่องจากใบอนุญาตทำการประมงของเรือประมงพาณิชย์ในรอบปีการประมง 2559 – 2560 (1 เมษายน 2559 - 31 มีนาคม 2561) กำลังใกล้จะสิ้นสุด ดังนั้นเพื่อความต่อเนื่องของการทำการประมง กรมประมงจึงได้ออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 4 มกราคม2561 เรื่อง กำหนดห้วงเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนและเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์สำหรับปีการประมง 2561 – 2562 พ.ศ. 2561 โดยเตรียมเปิดให้ผู้ประกอบการ เรือประมง ขนาด 10 ตันกรอส ขึ้นไป หรือเรือประมงที่มีขนาดแรงม้า 280 แรงม้าขึ้นไป และเรือต่ำกว่า 10 ตันกรอสที่ใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด 7 เครื่องมือ ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง อวนล้อมจับ (มีสายมาน) อวนล้อมจับปลากะตัก คราดทุกชนิดประกอบเรือกลเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) มาแจ้งยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์ได้ในระหว่างวันที่ 20 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ที่มีอาณาเขตติดทะเล สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง หรือสถานที่อื่นที่กรมประมงประกาศกำหนดเท่านั้น หากขึ้นรอบปีการประมงใหม่ ซึ่งเริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน 2561 เรือประมงลำใดออกไปทำประมงโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษรุนแรงทั้งทางอาญาและมาตรการทางปกครองตาม พ.ร.ก.การประมง 2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม สำหรับผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอพร้อมเอกสารประกอบการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ดังนี้ (1) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แสดงวัตถุประสงค์ในการประกอบ กิจการประมง (กรณีที่เป็นนิติบุคคล) มีอายุไม่เกิน 3 เดือน (2) หนังสือมอบอำนาจ (ติดอากรแสตมป์ 10 บาท) พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีที่มีการมอบอำนาจ) (3) สำเนาหนังสือรับรองสุขอนามัยเรือประมง (สร.3) (เฉพาะเรือขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอส ขึ้นไป) ยกเว้นเรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ หรือเรือที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกรมประมง (4) แบบแจ้งพิกัดการวางซั้ง ประกอบการขออนุญาตทำการประมง (กรณีขอใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ) (5) หนังสือยินยอมให้ใช้เรือประมง กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ใช่เจ้าของเรือ หรือมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม (6) หนังสือแสดงความเป็นผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรม (กรณีผู้ขอรับอนุญาตเป็นผู้เยาว์) (7) ภาพถ่ายหรือภาพถ่ายดิจิทัลของเรือประมง จำนวน 3 รูป ดังนี้ 7.1 ภาพอัตลักษณ์เรือที่เห็นชัดเจน จำนวน 1 รูป (เฉพาะเรือตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป) 7.2 ภาพหัวเรือที่เห็นชื่อเรือ ทะเบียนเรือ และเครื่องหมายประจำเรือชัดเจน (กรณีเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์อยู่เดิม) จำนวน 1 รูป 7.3 ภาพถ่ายเรือเต็มลำด้านซ้ายหรือด้านขวา จำนวน 1 รูป ด้านขั้นตอนการขอยื่นรับใบอนุญาตทำการประมง หลังจากทางผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ได้ดำเนินการยื่นเรื่องเรียบร้อยแล้ว ทางกรมประมง กรมเจ้าท่า และศปมผ. จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเรือประมง โดยจะแบ่งกลุ่มเรือเป็น 2 กลุ่มหลักใหญ่ๆ ดังนี้ 1. เรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่มีขนาดเกิน 30 ตันกรอส ทุกเครื่องมือ เรือประมงต่ำกว่า 30 ตันกรอสที่ใช้เครื่องมือ อวนลากทุกชนิด อวนล้อมจับ อวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบปลากะตัก และเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง (เรือขาว-ส้ม) ทำการตรวจโดยศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง 2. เรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส ที่ไม่ต้องแจ้งเข้าออกและเรือที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส จะถูกตรวจโดยคณะทำงานตรวจเรือของศูนย์แก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งเรียกว่าการตรวจเรือ 3 ฝ่าย ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า และศปมผ. โดยเรือที่ต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องมือทำการประมง 7 เครื่องมือ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคาน ถ่างอวนล้อมจับ (มีสายมาน) อวนล้อมจับปลากะตัก คราดทุกชนิดประกอบเรือกลเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) จะต้องทำอัตลักษณ์เรือ และวัดขนาดเรือใหม่ หลังจากที่ได้มีการตรวจเรือประมงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว ทางกรมประมงจะแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตมารับชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและอากรทำการประมงและรับใบอนุญาตทำการประมง ณ สำนักงานประมงอำเภอที่ยื่นคำไว้ สำหรับใบอนุญาตใช้เรือให้ชาวประมงที่ได้รับอนุญาตไปชำระค่าธรรมเนียมและรับใบอนุญาตใช้เรือ ณ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ในจังหวัดที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงจะต้องนำเรือพร้อมเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตมาให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงตรวจก่อนออกไปทำการประมงครั้งแรกของปีการประมง 2561 – 2562 (โดยขอรับการตรวจได้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2561 หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์รอบปีการประมงใหม่) ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์รอบปีการประมง 2561 – 2562 เบอร์โทรศัพท์ 02-561-1418 ,091-057-5317, 064-014-1812, 097-326-9095 หรือสำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานประมงอำเภอในพื้นที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ