ปลัดแรงงาน นำทัพลง EEC ชี้ ต้องพัฒนาแรงงาน หลังเคาะค่าจ้าง

ข่าวทั่วไป Monday January 22, 2018 15:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปลัด ก.แรงงาน นำทีมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ EEC หาข้อมูลความต้องการแรงงานที่แท้จริง เตรียมเพิ่มทักษะฝีมือ สอดรับค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นำคณะผู้บริหารของกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่เขต EEC ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2561 เพื่อสอบถามความต้องการด้านแรงงาน ทั้งด้านปริมาณแรงงานที่ต้องการ ตำแหน่งงาน และสาขาที่ต้องการให้พัฒนาทักษะ เพื่อป้อนตลาดแรงงาน รวมถึงการพัฒนาทักษะให้แก่พนักงาน ให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น ตลอดจนการดำเนินงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานให้การช่วยเหลือและดำเนินการปรับปรุง พัฒนาให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงกับสภาวะปัจจุบัน และสอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับ EEC นั้นได้จัดทำแผนพัฒนากำลังคนรายจังหวัดระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) ไว้แล้วจำนวน 161,696 คน ซึ่ง กพร.มีความ พร้อมที่จะฝึกอบรมทักษะรับการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการด้วย อีกทั้ง กพร.ยังมีโครงการขอรับงบประมาณด้านครุภัณฑ์การฝึกเพิ่มเติมอีกกว่า 2.5 ล้าน เพื่อใช้ในการพัฒนาแรงงานในระยะยาวอีกด้วย สำหรับข้อมูลที่ได้ในครั้งนี้ กพร.จะนำไปปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แผนงานด้านการพัฒนาทักษะแรงงานในกลุ่มนี้ ได้เน้นการพัฒนาทักษะรองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคตด้วย เพื่อให้พนักงานมีศักยภาพในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ซึ่งมีแนวโน้มนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเน้นการยกระดับทักษะ(Upgrade Workforce) Multi Skills ,Re-Skill ความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีโครงการยกระดับครูฝึกต้นแบบ (Master Trainer) เพื่อนำความรู้ไปขยายผลต่อไป โครงการยกระดับ ให้เป็น Excellent Center เป็นศูนย์ด้านยานยนต์ ในจังหวัดระยอง ด้านออโตเมชัน ในจังหวัดชลบุรี และเป็นศูนย์ด้านดิจิทัลและออโตเมชันในจังหวัดฉะเชิงเทรา จากการประชุมหารือร่วมกับตัวแทนของสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าของแต่ละจังหวัด ผู้แทนของสถานศึกษาและตัวแทนจากสถานประกอบกิจการ ที่เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะในครั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กพร. มีความสอดคล้องกับแผนดำเนินงาน ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการบูรณาการร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อนำกลุ่มนักเรียน นักศึกษาในชั้นปีสุดท้าย มาพัฒนาทักษะให้มีความพร้อมก่อนเข้าตลาดแรงงาน การส่งตัวเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มทักษะในภาคปฎิบัติให้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มทักษะด้านภาษา ให้สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ อาทิ ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีน สำหรับกลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบ ควรได้รับการพัฒนาทักษะให้เป็น Multi Skills เพื่อช่วยลดต้นทุนในการจ้างงาน และลดปัญหาด้านแรงงานที่ขาดแคลนได้อีกด้วย ในเรื่องการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ภาคเอกชนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบกิจการในเขต EEC โดยจังหวัดฉะเชิงเทรา มีอัตราค่าจ้าง 325 บาท ส่วนจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง มีอัตราค่าจ้าง 330 บาท สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่หากแรงงานมีทักษะฝีมือ การจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการยินดีและพร้อมปฎิบัติตาม แต่กรณีที่แรงงานขาดทักษะฝีมือ ควรต้องเร่งพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถ โดยนำมาตรฐานฝีมือมาใช้เป็นเครื่องมือวัดระดับของการพิจารณาจ่ายค่าจ้าง ข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รับมานั้น ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการในส่วนที่สามารถทำได้ อีกด้านหนึ่งจะนำไปวางแผนให้สอดรับกับความต้องการ และจะนำมาเสนอในการประชุมร่วมกันในครั้งต่อไป อธิบดี กพร.กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ