ผลกระทบการเลื่อนการเลือกตั้งต่อภาคการลงทุนและเศรษฐกิจไทย

ข่าวทั่วไป Monday January 29, 2018 13:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต การเลื่อนการเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุน เพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่จำเป็นอันบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเมืองและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในอนาคต การคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น การกระจายอำนาจจะเป็นปัจจัยจำเป็นต่อการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 13.00 น. 28 ม.ค. 2561 ที่ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อผลกระทบของการเลื่อนการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจ ว่า การเลื่อนการเลือกตั้งส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนจากการสร้างความไม่แน่นอน การไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีการเลื่อนอีกหรือไม่ในอนาคต ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนที่คาดหวังให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยลดลง นอกจากนี้ เพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่จำเป็นอันบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเมืองและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในอนาคต ระบบนิติรัฐและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการลงทุนและการตัดสินใจ ยิ่งเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ และสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรมและน่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ จะยิ่งลดความเสี่ยงในการจะเกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่มากเท่านั้น และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว แม้นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังคงดี การขยายตัวเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนส่งผลดีต่อภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทย แต่ ความล่าช้าของการเลือกตั้งทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการเริ่มต้นเจรจาข้อตกลง FTA กับอียู สหรัฐอเมริกา และ TPP ซึ่งสหรัฐอเมริกาอาจตัดสินใจเข้าร่วมอีกครั้งหนึ่ง ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวว่า การคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น การกระจายอำนาจจะเป็นปัจจัยจำเป็นต่อการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การกระจายตัวของรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ระบบการเมืองที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีเสรีภาพจะช่วยลดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจลง สามารถใช้เสรีภาพโดยไม่ถูกปิดกั้นในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้ดีกว่า โดยเฉพาะไม่ปิดกั้นคนส่วนใหญ่ที่จะกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง และ เราต้องการระบอบประชาธิปไตยที่จะส่งเสริมหรือเอื้อต่อการที่ประเทศจะเข้าสู่โลกาภิวัตน์ได้อย่างเข้มแข็ง มีคุณภาพ ทำให้ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ