พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครั้งที่ ๔๐ สภามหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์ และศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น ให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday February 14, 2018 16:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕9-๒๕60 (ครั้งที่ 40) ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ และวันจันทร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖1 ซึ่งในปีนี้มีบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน ๔,019 ราย แยกเป็น ระดับบัณฑิตศึกษา (ป.โท-ป.เอก) จำนวน ๑91 ราย และระดับบัณฑิต (ป.ตรี) จำนวน ๓,๘28 ราย ในการนี้ สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้มีมติอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 10 ราย มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 2 ราย ให้แก่ผู้สร้างคุณประโยชน์ต่อองค์กรและสังคมประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแบบอย่าง ที่ดี และศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่นเพื่อเข้ารับพระราชทานโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น จำนวน ๖ ราย ดังนี้ ผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 10 ราย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสหวิทยาการเกษตร การศึกษา วิทยาลัยกองทัพอากาศ รุ่นที่ ๓๒, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ ๔๘, รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบัน รองนายกรัฐมนตรี พลอาการศเอก ประจิน จั่นตอง เป็นผู้บริหารที่ให้ความสำคัญในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ ด้านการศึกษา ท่านดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบูรณาการ การบริหารจัดการปฏิรูประบบงานวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันและให้ความสำคัญกับการปฏิรูปงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง นำเสนอแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พุทธศักราช ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) และนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน นอกจากนั้น ท่านยังขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา โดยการผลักดันนโยบายการศึกษาแบบทวิภาคีที่เป็นการพัฒนาผู้เรียนให้มี ความสามารถตามความต้องการของสถานประกอบการ ในด้านการเกษตร ท่านให้การสนับสนุนผลักดันให้มีการดำเนินการควบคุมปริมาณการผลิตสินค้าการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละช่วงเวลา และให้ความเห็นชอบผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ในด้านการคมนาคมขนส่งท่านผลักดันการจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ ๘ ปี นอกจากนี้ได้สนับสนุนการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออพติค เชื่อมโยงการเข้าถึงข้อมูลไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง เป็นผู้มีผลงานอันเป็นแบบอย่าง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมุ่งมั่นในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อันนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสหวิทยาการเกษตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป พลเอก ธีรเดช มีเพียร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ การศึกษา ปริญญาโท Wayne state University สหรัฐอเมริกา, ประกาศนียบัตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง จากสถาบันพระปกเกล้า, โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประกาศนียบัตร U.S. Army Command And General Staff college รวมถึงประกาศนียบัตรอื่นๆ อีกมากมาย ปัจจุบัน ราชองครักษ์พิเศษ กรมราชองครักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พลเอก ธีรเดช มีเพียร เริ่มรับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตรยศร้อยตรี เหล่าทหารปืนใหญ่สังกัดกองทัพบก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ และปฏิบัติราชการด้วยความทุ่มเท เสียสละ อย่างเต็มภาคภูมิกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ในตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ยศพลเอก โดยได้รับพระราชทานยศพลเรือเอกกับพลอากาศเอกเพื่อเป็นเกียรติด้วย ได้ปฏิบัติหน้าที่ในราชการโดยส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาและฝ่ายอำนวยการของหน่วยทหาร รวมถึงการปฏิบัติงานตามภารกิจป้องกันประเทศทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ท่านได้นำความรู้ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ มาใช้ในการทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคและยุติธรรมให้แก่ภาครัฐและประชาชน นอกจากการปฏิบัติราชการในกระทรวงกลาโหมแล้วท่านได้ดำรงตนอยู่ในความซื่อสัตย์และเสียสละเพื่อประเทศชาติ ทำให้ได้รับการยอมรับและได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ อาทิ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา นอกจากนี้ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ รองประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคารทหารไทยจำกัดมหาชน ท่านเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในวิชาชีพ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเท ซื่อสัตย์สุจริต อีกทั้งได้ใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ อุทิศตนเพื่อบำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการตลาด การศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประกาศนียบัตรหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง จากโรงเรียนวอร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและด้านยุทธศาสตร์ ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งของประเทศ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีผลงานมากมายอันแสดงถึงความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ดี เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชน แห่งประเทศไทย, ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) อีกทั้งยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกหลายตำแหน่ง อาทิ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ท่านเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน มีผลงานโดดเด่นในเชิงประจักษ์ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ให้แก่ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา โดยได้เข้าไปปรับปรุงแก้ไข กลไกในการบริหารจัดการการเกษตรของประเทศ สำหรับการร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นั้น ท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการ "กาดแม่โจ้ ๒๔๗๗"อันเป็นโครงการต้นแบบการปฏิบัติการเกษตรไทยด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริ เกษตรทฤษฎีใหม่สู่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ท่านยังได้ริเริ่มโครงการปลูกผักแลกค่าเทอม นวัตกรรมทางความคิด การผลิตบัณฑิตเพื่อสังคม ซึ่งถือเป็นโครงการต้นแบบการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อขยายโอกาสการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะ ความรู้จากการปฏิบัติงานในการเกษตร ท่านได้เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน โดยได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษให้ข้าราชการระดับสูง ของหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาแก่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ท่านเป็นนักการตลาดผู้เชี่ยวชาญโดยได้สั่งสมประสบการณ์จนเป็นองค์ความรู้ ได้เริ่มทำงานในบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เริ่มตั้งแต่ตำแหน่งพนักงาน ในแผนกต่าง ๆ จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด คือตำแหน่งกรรมการ (Director) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในวิชาชีพ เป็นผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และที่สำคัญทางด้านการเกษตร โดยดำเนินการตามนโยบายและมาตรการ ต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม เป็นนักสื่อสารมวลชนนักบริหาร นักการตลาด ด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ได้สร้างนวัตกรรมทางความคิดในเวทีระดับประเทศและระดับโลก จึงนับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการตลาด เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาทรัพยากรและส่งเสริมการเกษตร การศึกษา ปริญญาตรี สาขา โคนม-โคเนื้อ คณะผลิตกรรมการเกษตร (แม่โจ้ รุ่น 54) และ สาขาการจัดการชุมชน (เกียรตินิยม อันดับ ๑) มหาวิทยาลัยแม่โจ้, ปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า), หลักสูตรพัฒนาผู้บริหาร MicroMBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันทรัพยากรมนุษย์ ปัจจุบัน เจ้าของกิจการสมเกียรติการเกษตร, ฉัตรกมลฟาร์ม, ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัว นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งพนักงานฝ่ายการตลาด บริษัท ที.เจ เคมี จำกัด จากนั้นได้ทำงานในตำแหน่งสำคัญในบริษัทเอกชนอีกหลายบริษัท เป็นผู้จัดการและเจ้าของกิจการสมเกียรติการเกษตร และฉัตรกมลฟาร์ม นอกจากนั้นท่านเคยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มการเกษตรทำสวนทุเรียน บ้านห้วยเหมือง ประธานวิสาหกิจชุมชนไม้ผลคุณภาพบ้านห้วยเหมือง ดำรงตำแหน่งคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดชุมพร คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และท่านยังทำงานเพื่อสังคมอีกหลายบทบาท อีกหลายตำแหน่ง ท่านมีผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดี ได้รับรางวัลเกียรติคุณ บุคคลที่ทำคุณให้กับแผ่นดิน งานแม่โจ้ ๘๐ ปี ฝากความดีไว้ในแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖, ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน ระดับประเทศ ในวันพืชมงคล พ.ศ. ๒๕๕๘, ได้รับรางวัลศิษย์เก่า อกท.ดีเด่น ระดับชาติ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรดีเด่นของแผ่นดิน จังหวัดชุมพร ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรกรต้นแบบเพื่อการส่งออก กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และรางวัลปราชญ์เกษตรดีเด่นสาขาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ชุมพร) สภาเกษตรกรแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๙ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชุมพร โดยปฏิบัติหน้าที่ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๓ ด้านผลงานวิชาการ ท่านมีผลงานหนังสือวิชาการฉบับเกษตรกร หลายฉบับ เพื่อการส่งออกเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรทั่วไป อีกทั้งยังได้จดทะเบียนปุ๋ยสูตร ๑๔-๗-๓๔ และสูตรปุ๋ยเคมี ๑๒-๓-๔๐ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อพัฒนาคุณภาพผลทุเรียน นอกจากนี้ยังมีผลงานคู่มือการผลิตผลไม้นอกฤดู ท่านยังได้เผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ด้วยทุนส่วนตัว ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่หนังสือ คู่มือการผลิตผลไม้นอกฤดูกาล กรมส่งเสริมการเกษตร ท่านเป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในรายวิชาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน และวิชาศาสตร์และศิลป์แห่งปัญญาชน ให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพนั้นจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทาน ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาทรัพยากรและส่งเสริมการเกษตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ การศึกษา ปริญญาตรี บัญชีบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต University of Texas at Arlington, The United States of America ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ มีผลงานวิชาการโดยสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนา ระหว่างเครือเบทาโกร และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ในด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหาร เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปศุสัตว์และอาหาร มีผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดีนานัปการ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเครือเบทาโกรให้เป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมปศุสัตว์และอาหารของประเทศไทย มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยกำหนดมาตรฐานการผลิตให้สูงกว่า ข้อบัญญัติทางกฎหมาย กำหนดนโยบายสุขภาพหนึ่งเดียว สำหรับการเลี้ยงสัตว์ของเครือเบทาโกร เพื่อลดและยกเลิกยาปฏิชีวนะ จนผลิตภัณฑ์ไก่ S-Pure ได้รับการรับรองจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Science Foundation) ว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นรายแรกของโลก ท่านได้ริเริ่มให้เครือเบทาโกรจัดตั้งร้านเบทาโกร ช็อป ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร รวมทั้งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบเนื้อไก่ เนื้อสุกร ไข่ไก่ และไส้กรอก ที่มีคุณภาพ ผลงานการเป็นผู้สนับสนุนและทำคุณประโยชน์แก่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมก่อตั้ง "มูลนิธิสายธาร"โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุนด้านการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นที่ห่างไกล ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาที่เรียนดีแต่ยากจนจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาในระดับสูงสุดที่สามารถศึกษาได้ นอกจากนี้ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายอาคารอเนกประสงค์ให้แก่โครงการชั่งหัวมันในพระราชดำริ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มูลค่ารวม ๑๐,๕๐๐,๐๐๐ (สิบล้านห้าแสนบาทถ้วน) นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ เป็นผู้ส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และอาหารของประเทศไทยสู่มาตรฐานระดับสากล ด้วยการยึดมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างงาน และกระจายรายได้สู่ชนบท ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อีกทั้งดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต นับเป็นแบบอย่างอันดีแก่บุคคลทั่วไป จึงนับว่าเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร การศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) CEO เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในวิชาชีพ ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) CEO เครือเจริญโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งสำคัญของบริษัทอีกหลายตำแหน่ง ท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันการสอนทำอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์กับสถาบันให้คำปรึกษา Lausanne Hospitality Consulting (LHC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัยโลซานน์ สมาพันธรัฐสวิส ท่านได้สร้างผลงานดีเด่นกระทั่งได้รับรางวัลเป็นที่ประจักษ์ อาทิ ได้รับรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรม (Thailand's Most Innovative Companies), รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) รางวัลผู้ประกอบการดีเด่น (Prime Minister's Business Enterprise Award) การเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน อาทิ ได้จัดทำโครงการดีวีดีคุณทองแดง เพื่อจำหน่ายหารายได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช จัดทำโครงการแปะฮวยช่วยเพื่อน เพื่อระดมทุนเข้าโครงการส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดทำโครงการ Give A Chance สี่ขาขาจรเครือข่ายคนรักน้องหมา ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อันสำคัญให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นอเนกประการ นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข เป็นผู้มีความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ อันเป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป นายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ การศึกษา ปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่วนัสนันท์ จำกัด นายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในวิชาชีพ ท่านสืบสานธุรกิจครอบครัว ขยายกิจการสู่การจำหน่ายสินค้าของฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก อีกทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย และมีคุณภาพ คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ จนเป็นที่เชื่อถือมากว่า ๒๐ ปี อีกทั้งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และดำรงตำแหน่งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ด้านการเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน ท่านเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่ม จนเกิดประโยชน์แก่สังคม อาทิ ได้จัดตั้งมูลนิธิสถาบันครูบาศรีวิชัย เป็นคณะกรรมการจัดงานกินเจ มูลนิธิเชียงใหม่สามัคคีการกุศล โดยจัดทำโรงทานอาหารเจ เพื่อเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถรับประทานอาหารเจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดช่วงเทศกาลกินเจ นายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล เป็นผู้มีความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ อันเป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป ได้สร้างตราสัญลักษณ์สินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดเชียงใหม่ ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของชุมชนอีกทั้งเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมล้านนาด้านอาหารให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ เป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป นายปิยะ โรจนเพียรสถิต ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาทรัพยากรและส่งเสริมการเกษตร การศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Northeastern รัฐแมสซาชูเซต สหรัฐอเมริกา, ปริญญาโท ธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบัน รองประธานบริษัทในเครือประวิทย์กรุ๊ป นายปิยะ โรจนเพียรสถิต ปฏิบัติงานครั้งแรก โดยดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ปุ๋ยไวกิ้ง จำกัด และตำแหน่งผู้บริหารสำคัญของบริษัท เรื่อยมา จนได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทปุ๋ยไวกิ้ง จำกัด และในปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธาน บริษัทในเครือประวิทย์กรุ๊ป และท่านยังเป็นประธานที่ปรึกษาสโมสรแม่โจ้ยูไนเต็ดของชมรมฟุตบอลศิษย์เก่าแม่โจ้อีกด้วย ผลงานซึ่งแสดงถึงความสำเร็จในการเป็นแบบอย่างที่ดีหลายประการ อาทิ การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและการปรับปรุงหน้าดิน การใช้เทคโนโลยีด้านการผลิตพืชเศรษฐกิจอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ พัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทดสอบดิน เพื่อแนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้ส่งเสริมกิจกรรมของชุมชนเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปลูกพืชที่ส่งเสริมอาชีพตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านองค์ความรู้และเทคโนโลยี รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนด้านการเกษตรในการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นท่านมีผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน อาทิ ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้ดีขึ้น ในด้านการส่งเสริมการกีฬา ได้ส่งเสริมการกีฬาประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชน นักเรียน นักกีฬา สนใจที่จะออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ช่วยให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ สร้างความเป็นเลิศด้านการกีฬาให้กับนักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับนักฟุตบอลของสังกัดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสมาชิกสังกัดสโมสรแม่โจ้ ยูไนเต็ด และยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้อีกทางหนึ่ง นายปิยะ โรจนเพียรสถิต เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม รวมถึงเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่มหาวิทยาลัยเป็นอเนกประการ จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาทรัพยากรและส่งเสริมการเกษตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป นายสุรชัย ศิริจรรยา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ การศึกษา ปริญญาตรี สาขาสัตว์ปีก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (แม่โจ้ รุ่น 49), สำเร็จหลักสูตรประจำชุดที่ ๕๗ จากวิทยาลัยการทัพบก ปัจจุบัน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ธุรกิจไก่เนื้อ ภาคเหนือ นายสุรชัย ศิริจรรยา มีผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดีหลายประการ อาทิ เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF โดยเป็นผู้ร่วมบุกเบิกวางนโยบายและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจเกษตร อุตสาหกรรมและอาหารของประเทศ โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ครบวงจร และการแปรรูปในพื้นที่ภาคเหนือ ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนนั้น ท่านได้เผยแพร่รูปแบบและเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ปีก การจัดการระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกในโรงเรือนแบบปิด ที่นำมาพัฒนาปรับปรุงฟาร์มและโรงเรือนไก่ไข่เป็นแห่งแรกในภาคเหนือ จนเป็นต้นแบบการจัดการระบบโรงเรือนปิด ในการเลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ซึ่งส่งผลให้มีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น อีกทั้งยังมีบทบาทและร่วมสนับสนุนในงานกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนต่างๆ เช่น โครงการอาหารกลางวันในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน และในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในจังหวัดต่าง ๆ นายสุรชัย ศิริจรรยา เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในวิชาชีพ เนื่องจากเป็นผู้ทุ่มเทปฏิบัติงานในวิชาชีพ สร้างผลงานอันเป็นประโยชน์กระทั่งได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญของบริษัท เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม และท่านยังเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นอเนกประการ ด้วยการให้ความร่วมมือ สนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งในด้านวิชาการ การฝึกทักษะและประสบการณ์ ตลอดจนโครงการเพื่อให้นักศึกษาได้ปฏิบัติงานในสถานที่จริง ตลอดจนให้โอกาสส่งเสริมบัณฑิตของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้ได้ประกอบอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป นายนรินทร์ พูลเพิ่ม ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชสวน การศึกษา ปริญญาตรี สาขาพืชสวนประดับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (แม่โจ้ รุ่น 34, ปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ปัจจุบัน ข้าราชการบำนาญ (นักวิจัยและพัฒนาพืชสวน) นายนรินทร์ พูลเพิ่ม เป็นบุคคลผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพการรับราชการ โดยตำแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการคือ นักวิชาการเกษตร ๙ ว. (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง) สังกัดสำนักวิจัยพัฒนาการเกษตร เขตที่ ๒ จังหวัดพิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร ท่านเป็นผู้มีผลงานทางวิชาการที่โดดเด่น ได้ผลิตเอกสารวิชาการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่าง ๆ โดยเน้นการปลูกพืชสวน นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ อาทิ เทคนิคในการปลูกและบังคับให้มะนาวออกผลนอกฤดูกาลในวงบ่อซีเมนต์ โดยไม่ใช้สาร นอกจากนี้ยังได้วิจัยและพัฒนาพืชสวนหลายชนิด ทั้งพืชผัก ไม้ผล และดอกไม้ ท่านยังเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยผลงานเชิงประจักษ์ที่สำคัญคือการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยใช้ชื่อแม่โจ้ ๓๔ เพื่อเป็นการระลึกถึงสถาบันที่ได้ศึกษา ตลอดจนได้มอบพันธุ์พืชให้แก่หน่วยงานการศึกษาเพื่อใช้เรียนรู้และวิจัย การเผยแพร่ผลงานด้านพืชสวนเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน โดยเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งทฤษฎี และการปฏิบัติ ให้แก่ นักศึกษา หน่วยงานราชการ เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป ท่านยังเป็นอาจารย์พิเศษ ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาด้านการวิจัยที่เกี่ยวกับพืชสวน ให้คำปรึกษาและคำแนะนำอย่างเต็มกำลังความสามารถแก่นักวิชาการเกษตร ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกสถานีทดลองทางการเกษตรบนพื้นที่สูงโครงการหลวงแม่สาใหม่ ร่วมพัฒนาที่ดินโครงการพัฒนาที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา พื้นที่บ้านบึงแวงและบ้านหนองไผ่ ท่านมีผลงานที่โดดเด่นด้านพืชสวน จนได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ได้รับรางวัลชนะเลิศผู้แถลงผลการวิจัยดีเด่นประจำปี ๒๕๓๒ – ๒๕๓๓ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เรื่องการทดสอบพันธุ์มันเทศในฤดูฝนและฤดูแล้ง ได้รับรางวัลผลการวิจัยดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๕ ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเภทงานปรับปรุงพันธุ์ระดับชมเชย เรื่อง มะนาวพันธุ์พิจิตร ๑ นายนรินทร์ พูลเพิ่ม เป็นผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นผู้เสียสละกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา และกำลังทรัพย์ ในการสนับสนุนช่วยเหลือสังคม และชุมชนเพื่อความเจริญก้าวหน้าของวิชาชีพการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ดำรงไว้ซึ่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในฐานะศิษย์เก่าให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน รวมทั้งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ อีกทั้งได้ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์เก่าและคนทั่วไป เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการยอมรับจากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน อีกทั้งได้อุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างอเนกอนันต์ ได้รังสรรค์ปรับปรุงพันธุ์พืชสวนนานาชนิด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการด้วยความอุตสาหะยิ่ง บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชสวน เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป ผู้ได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 2 ราย นายสุทัศน์ บุญมาภิ รัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ปัจจุบัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทราย อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ นายสุทัศนื บุญมาภิ มีด้านผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดี ท่านได้ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลแม่ทราย และได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทราย อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ อีกทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นกรรมการจัดหาพื้นที่จัดตั้งมหาวิทยาลัยในพื้นที่อำเภอร้องกวาง และเป็นผู้ประสานงานกระทั่งได้รับจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ท่านได้ประสานกับจังหวัดแพร่ เสนอของบประมาณจัดสร้างสนามกีฬามหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งนับเป็นสนามกีฬาขนาดมาตรฐาน ระดับสากลของอำเภอร้องกวาง เพื่อให้ประชาชนและนักศึกษาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพจิตที่ดี นอกจากนี้ ยังได้ประกอบอาชีพเสริมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวคือ ปลูกพืชไร่ พืชสวน และเลี้ยงสัตว์ นำประสบการณ์ที่เรียนรู้จากตำราและการลงมือปฏิบัติประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้แก่ประชาชน แนะนำผู้ไม่มีรายได้ให้สามารถนำความรู้มาประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว และเปิดโอกาสให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เข้าศึกษาเยี่ยมชมสถานที่ ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อประกอบการศึกษาในชั้นเรียน และยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในอนาคตต่อไปอีกด้วย นายสุทัศน์ บุญมาภิ เป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ ได้บุกเบิกพื้นที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ร่วมประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสู่ความก้าวหน้าด้านอาชีพของประชาชน และยังร่วมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยในการทำวิจัยด้านต่าง ๆ นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา รัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป นายสุรศักดิ์ จโนภาษ เทคโนโลยีมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ การศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชาพืชสวนประดับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (แม่โจ้ รุ่น 37) ปัจจุบัน ผู้จัดการบริษัท สามปอยดง, ผู้จัดการบริษัท สวนผักเชียงใหม่ นายสุรศักดิ์ จโนภาษ เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการจัดทำหนังสือ "สมุนไพรพลังงานแห่งชีวิต"ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ด้านต่าง ๆ อาทิ งานด้านภูมิทัศน์ การนำเสนองานด้านภูมิทัศน์ในเขตพระราชฐาน ณ วังศุโขทัย และการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม ณ วังศุโขทัย นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรพิเศษ เรื่อง แม่โจ้กับการสนองงานในพระราชวงศ์ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นวิทยากรอบรมและฝึกปฏิบัติงานแก่นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ รวมถึงเป็นที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย ท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีผลงานมากมายอันแสดงถึงความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ดี ได้แก่ งานปรับปรุงภูมิทัศน์พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล และนภพลภูมิสิริ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ งานจัดภูมิทัศน์ภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ งานจัดภูมิทัศน์ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ งานจัดภูมิทัศน์พระราชอุทยานในเขตพระราชฐานต่าง ๆ ได้แก่ วังศุโขทัย วังทวีวัฒนา พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งวิมานเมฆ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ วังไกลกังวล เรือนประทับเดโชชัย ร้านศิลปาชีพ งานจัดภูมิทัศน์ในเขตพระราชฐาน ในราชอาณาจักรภูฏาน อีกทั้งยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการต่าง ๆ ในการเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอีกมากมาย อาทิ เป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดสวนหย่อมไม้ใบ การประกวดไม้ในกระถาง การประกวดไม้ดอกไม้ประดับนานาชาติ ในงานมหกรรมพืชสวนโลก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการจัดเผยแพร่งานโครงการหลวงในต่างประเทศ งาน Test of Thailand ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเป็นผู้ควบคุมและดูแลการปฏิบัติงานด้านการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ ณ เขตพระราชฐาน ประเทศภูฏานภายใต้ความร่วมมือระหว่างโครงการหลวงประเทศไทยกับโครงการหลวงประเทศภูฎาน นายสุรศักดิ์ จโนภาษ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในวิชาชีพ มีความรู้ ความสามารถมีประสบการณ์และเป็นที่ปรึกษาในการตกแต่งสวนและสถานที่ต่าง ๆ เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่ม จนเกิดประโยชน์แก่สังคม เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ด้านการตกแต่งสถานที่และปรับปรุงภูมิทัศน์แก่ผู้สนใจ เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเป็นอเนกประการ จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา เทคโนโลยีมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป ผู้ได้รับโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น ประจำปี ๒๕60 จำนวน ๖ ราย นายสุรพันธ์ เด็ดขาด ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 3๓ การศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาพืชไร่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, ปริญญาตรี สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ปริญญาโท สาขาวิชาพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปัจจุบัน อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร นายสุรพันธ์ เด็ดขาด เริ่มต้นชีวิตการทำงานประจำ ณ ธนาคารกสิกรไทย สาขาแพร่ จังหวัดแพร่ ท่านเป็นผู้ประสบความสำเร็จด้านการปฏิบัติงานเป็นที่ประจักษ์ กล่าวคือ เป็นผู้บริหารงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ใน ๘ จังหวัด ซึ่งมีสาขาในสังกัดถึง ๕๔ สาขา บริหารเงินฝากในขณะนั้นจำนวนมากกว่า ๑๑,๐๐๐ ล้านบาท และร่วมบริหารด้านสินเชื่อในขณะนั้น จำนวนมากกว่า ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท จนได้รับเข็มเชิดชูเกียรติ และแหวนทองคำจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ซื่อสัตย์ และสุจริต ท่านยังได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม โดยเป็นผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการและกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เป็นครูของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นผู้ร่วมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วมและศูนย์ปฏิบัติการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพึงภายามยาก ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น นายสุรพันธ์ เด็ดขาด เป็นผู้สนับสนุนและทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นอเนกประการ ถือเป็นศิษย์เก่าผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม เสียสละเพื่อส่วนรวม และช่วยเหลือกิจกรรมของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด อาทิ เป็นประธานชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น ๓๓ เป็นประธานชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ภาคตะวันตก เป็นผู้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นทุนต่อเนื่อง ท่านเป็นผู้มีผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม อีกทั้งให้การสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องเป็นอเนกประการ และเสียสละเพื่อส่วนรวม จึงนับว่าเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายนิกร กิจการค้า ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 36 การศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาเกษตรกรรม และ ปริญญาตรี สาขาพืชสวนประดับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปัจจุบัน เจ้าของและผู้จัดการ สวนเกษตรแม่นาง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย นายนิกร กิจการค้า หลังจากจบการศึกษา เริ่มปฏิบัติงานเป็นนักวิชาการเกษตร หน่วยป้องกันกำจัดศัตรูพืช จังหวัดนครสวรรค์ และได้มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพตามลำดับทั้งในส่วนงานราชการและบริษัทเอกชน และธุรกิจส่วนตัว ปัจจุบันดำเนินกิจการและเป็นผู้จัดการสวนเกษตรแม่นาง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นศูนย์รวบรวมพืชสมุนไพร แหล่งผลิตและฝึกอบรมแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง นอกจากงานประจำแล้วท่านยังได้ปฏิบัติงานพิเศษอันเป็นประโยชน์แก่สังคม อาทิ ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายกิจกรรม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิตามรอยพ่อ (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙) เป็นผู้ประสานงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และบริษัทเอกชน จัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงวิธีปลูกจากเดิมที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เป็นที่ปรึกษาโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ คณะที่ ๒ จังหวัดปัตตานี เพื่อให้เกษตรกรใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอาชีพเสริม มีความรู้ด้านการเกษตรกรรมแบบใหม่ และเกษตรแบบผสมผสาน ตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียง นายนิกร กิจการค้า เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม นำความรู้ที่ได้รับจากสถาบันการศึกษาไปเผยแพร่ประโยชน์อเนกประการแก่สาธารณชน โดยเฉพาะด้านเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดแก่อนุชนรุ่นหลัง ส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นการเกษตรแบบใหม่ อุทิศตนเป็นวิทยากรอบรมบรรยายและจัดทำแปลงสาธิตเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังสนับสนุนการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและมีสุขภาพดี เป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพปรากฏเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งสร้างองค์ความรู้อันเกิดประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป จึงนับว่าเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายจำรอง ดาวเรือง ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๔7 การศึกษา ปริญญาตรี สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, ปริญญาโท สาขาเกษตรศาสตร์ (พืชสวน)มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบัน ผู้อำนวยการระดับสูงสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ นายจำรอง ดาวเรือง ปฏิบัติงานครั้งแรกในตำแหน่งนักวิชาการเกษตร ระดับ ๓ สถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานเรื่อยมา จนดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในหลายองค์กร ด้านผลงานทางวิชาการท่านได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี ๒๕๕๕ ประเภทงานวิจัยประยุกต์ ด้านเทคโนโลยีการผลิตมะคาเดเมียครบวงจร และได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี ๒๕๕๖ ประเภทพัฒนางานวิจัยระดับเกียรติคุณ ในโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์เชื้อพันธุกรรมไม้ผลอย่างยั่งยืนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ฯลฯ ด้านผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดีนั้นท่านได้ร่วมเป็นคณะกรรมการและร่วมในคณะทำงานหลายแขนง อาทิ คณะกรรมการบริหารจัดการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของกรมวิชาการเกษตร คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ๘ จังหวัดภาคเหนือ ท่านยังได้เผยแพร่ผลงานอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน มีผลงานที่ได้รับการเผยแพร่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตมะคาเดเมียแบบครบวงจร และผลงานที่ได้รับการเผยแพร่อีกหลายโครงการ นายจำรอง ดาวเรือง เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ และเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม ด้วยการเป็นผู้บุกเบิกสถานีวิจัยบนพื้นที่สูง เพื่อวิจัยหาเทคโนโลยีและพันธุ์พืชที่เหมาะสมเพื่อปลูกทดแทนพื้นที่การปลูกฝิ่นจนประสบความสำเร็จ และได้พัฒนาพันธุ์พืชต่าง ๆ หลายสายพันธุ์ จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายบรรจง สมบูรณ์ชัย ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๕0 การศึกษา ปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ และ ระดับปริญญาโท สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปัจจุบัน อาจารย์สังกัดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ก่อตั้งอาสาสมัครหมอต้นไม้ จังหวัดเชียงใหม่ นายบรรจง สมบูรณ์ชัย เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ สังกัดภาควิชาภูมิทัศน์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชา ผู้ช่วยคณบดี รองคณบดี และเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๕๐ – ๒๕๕๙ มาตามลำดับ ท่านมีผลงานดีเด่นทางด้านวิชาการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นที่ประจักษ์ อาทิ เป็นผู้ร่วมวิจัยในโครงการการศึกษาเพื่อจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการ "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงพัฒนา"ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ ปี ๒๕๕๔ เป็นผู้ร่วมวิจัยในโครงการความเชื่อมโยงของกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ เป็นผู้ร่วมวิจัยโครงการสำรวจแหล่งเกษตรกรรมและพื้นที่ธรรมชาติ เพื่อการอนุรักษ์ให้เป็นย่านสิ่งแวดล้อมสีเขียวของชุมชนในเมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้ท่านยังมีผลงานบทความวิจัยและบทความทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ นำเสนอบทความวิชาการ เรื่อง การฟื้นฟูต้นฉำฉา ถนนสายวัฒนธรรม เชียงใหม่ – สันกำแพง ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ เช่น หนังสือ หมอต้นไม้ นายบรรจง สมบูรณ์ชัยยังได้มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นฟื้นฟูสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ ได้ร่วมกิจกรรมและให้ความช่วยเหลืองานภารกิจต่าง ๆ ของสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ ตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ปี เป็นผู้มีผลงานดีเด่นซึ่งประพฤติปฏิบัติตน ตามแบบแผนแห่งทางราชการ ใฝ่ศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของหน่วยงานและประชาชนทั่วไป อุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ซื่อสัตย์ สุจริต จนประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม สมควรได้รับยกย่องให้เป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั่วไป จึงนับว่าเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายพิบูล โพธิ์ศรี ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๕4 การศึกษา ปริญญาตรี สาขาโคนมและโคเนื้อ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, ปริญญาโท สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ปัจจุบัน เจ้าของกิจการพิบูลฟาร์ม ประธานกรรมการ สหกรณ์โคนมพัฒนานิคม จำกัด จังหวัดลพบุรี นายพิบูล โพธิ์ศรี หลังจากจบการศึกษา ได้เปิดกิจการพิบูลฟาร์ม และทำไร่อ้อย รวมทั้งเป็นสัตวแพทย์รักษาและผสมเทียมโคนม โดยได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบการวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสอง จากสัตวแพทยสภา อีกทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของสหกรณ์โคนมพัฒนานิคม จำกัด จังหวัดลพบุรี อีกด้วย ผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดีหลายประการ อาทิ ประกอบกิจการฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ และขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานสหกรณ์โคนมพัฒนานิคม จำกัด ท่านได้พัฒนาสหกรณ์ฯ โดยสร้างสถานที่ตั้งสหกรณ์แห่งใหม่ มีโรงผลิตอาหารสัตว์ โรงเก็บวัตถุดิบอาหารสัตว์ โรงเก็บฟางข้าว อาคารสำนักงาน สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้าสะดวกซื้อ ซึ่งในระหว่างวาระได้สร้างผลกำไรให้กับสหกรณ์ฯ ทั้งหมด ๗๑ ล้านบาท และมีการพัฒนากิจการเจริญเติบโตจนถึงปัจจุบัน ท่านยังได้รับคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าสาขาโคนมและโคเนื้อ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ประสบความสำเร็จ และได้รับคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อกท.) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐ การเผยแพร่ผลงานเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ท่านได้ปรับปรุงพัฒนาฟาร์มในการเลี้ยงโคนมอย่างต่อเนื่อง ได้นำรูปแบบคอกแบบ parallel ซึ่งมีคอกนอน คอกรีดอยู่ในโรงเรือนเดียวกันมาใช้ และเปิดให้เกษตรกร นักศึกษา ผู้ที่สนใจในด้านการเลี้ยงโคนมเข้าเยี่ยมชมกิจการ และยังได้บรรยายเผยแพร่ความรู้ ประสบการณ์ในการประกอบอาชีพให้กับหน่วยงาน บุคคลต่าง ๆ เสมอมา นายพิบูล โพธิ์ศรี เป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน และได้นำความรู้ ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงโคนมมาประยุกต์ใช้ในอาชีพจนประสบความสำเร็จ ทั้งยังได้เผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้นำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ และปรับปรุงพัฒนาอาชีพให้เจริญก้าวหน้า นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกิจกรรม ของชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น ๕๔ และชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ในจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงช่วยเหลืองานภารกิจของสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้อย่างสม่ำเสมอในตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปี จึงนับว่าเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นางสาววินิตรา ลีละพัฒนา ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 69 การศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, ระดับปริญญาโท MASTER OF BUSINESS ADMINISTRATION (Recreation tourism and Hospitality Management), ปริญญาเอก Doctorate of Business Administration (Business Administration) จาก National Chiayi University สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ การศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (พัฒนาการท่องเที่ยว-การจัดการนันทนาการและการท่องเที่ยว) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปัจจุบัน อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการท่องเที่ยว, ผู้อำนวยการสถานบริการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาด้านการท่องเที่ยว นางสาววินิตรา ลีละพัฒนา เป็นผู้นำความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไปใช้ในการประกอบอาชีพและการปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษ อาทิ เป็นอาจารย์ผู้ประสานงานโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Vanung University และ National Chin Yi University of Technology สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) Guangxi University of Foreign Languages สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนั้นยังเป็นวิทยากรโครงการฝึกอบรม ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาทิ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนายุวมัคคุเทศก์ชุมชน อบรมเชิงปฏิบัติการ การบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบมีส่วนร่วม เป็นนักวิชาการที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จาการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการ อีกทั้งนำเสนอผลงานวิจัยทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ ได้รับรางวัลผู้นำเสนอผลงานวิจัยยอดเยี่ยมในด้านการท่องเที่ยวจากหลายประเทศ ซึ่งสะท้อนความสามารถด้านงานวิชาการอย่างชัดเจน นางสาววินิตรา ลีละพัฒนา ได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้อย่างต่อเนื่องได้ประสานงานเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง สมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ Tainan University of Technology สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างมั่นคง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมนักศึกษา อีกทั้งเป็นผู้พัฒนาหลักสูตรเพื่อแสวงหาความร่วมมืออย่างยั่งยืน เป็นผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ภาครัฐและเอกชนตลอดมา ใช้ความรู้ความสามารถประสานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เป็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านวิชาการอย่างโดดเด่น จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง ๑๘ ท่าน จะเข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น ในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ ศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก รัชกาลที่ ๙ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ และทางมหาวิทยาลัยจะได้จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป ณ ห้องประชุม ๑๐๑ อาคารศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ