ปภ.ประสานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ข่าวทั่วไป Monday April 2, 2018 14:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดพระนครศรีอยุธยามอบหมายให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเร่งรัดการพิจารณาจัดสรรเงินแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครัวเรือนละ 3,000 บาท จากพายุตาลัส พายุเซินกา และพายุทกซูรีตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้จัดประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) เพื่อขอใช้จ่ายเงินทดรองราชการด้านการเกษตร ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 4 เมษายน 2561 จะได้จ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลการให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวข้อร้องเรียนการจ่ายชดเชยเยียวยาแก่เกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมในปี พ.ศ.2560 ครัวเรือนละ 3,000 บาท ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางเว็บไซต์มติชนออนไลน์ และสื่อโซเชียลมีเดีย ว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานข้อมูลจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แบ่งเป็น ๒ กรณี กรณีแรก ได้แก่ มาตรการให้ความช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครัวเรือนละ 3,000 บาท จากพายุตาลัส พายุเซินกา และพายุทกซูรี โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยดำเนินการ ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แยกเป็น พื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุตาลัสและเซินกา (ช่วงเกิดภัยตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2560) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 จำนวน 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 480 ราย และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุทกซูรี (ช่วงเกิดภัยตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2560) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ใน 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอบางปะหัน อำเภอบางซ้าย อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอมหาราช อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร และอำเภอบ้านแพรก เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 16,375 ราย ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ดำเนินการจัดส่งข้อมูลการช่วยเหลือเกษตรกรทั้ง 2 สถานการณ์ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 สำหรับสาเหตุที่การดำเนินการเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากได้มีการหารือข้อกฎหมายในบางประเด็น และความชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ประกอบกับในช่วงดังกล่าวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในวงกว้าง ส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วยความรอบคอบ ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้จัดส่งเอกสารการขอรับความช่วยเหลือให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารและพิจารณาดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเร่งรัดการพิจารณาจัดสรรเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด นายชยพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในกรณีที่ 2 เป็นการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 (ด้านการเกษตร) คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ได้จัดประชุมพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ไปแล้ว จำนวน 5 ครั้ง สรุปการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ 1) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ก.ช.ภ.จ. พิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเสนา จำนวน 90 ราย (ด้านพืช 89 ราย ด้านประมง 1 ราย) วงเงิน 710,675.25 บาท โดยใช้จ่ายเงินทดรองราชการจากอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด 2) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ก.ช.ภ.จ. พิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 1,336 ราย วงเงิน 5,896,996.50 บาท ซึ่งได้ส่งขอใช้เงินทดรองราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 และ3) ในวันที่ 2 เมษายน 2561 ก.ช.ภ.จ. จะพิจารณาการให้ความช่วยเหลือด้านประมงของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอลาดบัวหลวง และอำเภอผักไห่ จำนวน 116 ราย ซึ่งจะได้สรุปเพื่อขอใช้จ่ายเงินทดรองราชการไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันที่ 4 เมษายน 2561 ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูล พร้อมเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ