สคร.10 อุบลฯ เตือนประชาชนระวังโรคไข้เลือดออก เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน

ข่าวทั่วไป Wednesday May 2, 2018 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี(สคร.10) เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงนี้ คือมีฝนตกสลับกับมีอากาศร้อน เป็นช่วงอันตรายที่มีโอกาสเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูง เพราะเป็นภาวะที่ยุงลายวางไข่ได้เร็วขึ้น และการเติบโตจากไข่ ไปเป็นตัวแก่สั้นลงมาก ทำให้เชื้อแพร่ได้เร็ว ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 เมษายน 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวม 199 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุตั้งแต่ 10 - 14 ปี นายแพทย์ดนัย กล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ร้อนสลับฝน จึงอาจเกิดน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้ อาการของโรคไข้เลือดออกอาการที่สำคัญแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะไข้ ผู้ป่วยจะ มีไข้สูงเกือบตลอดเวลาเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนปวดท้อง มักมีหน้าแดงและอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัวแขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน 2.ระยะช็อกไข้จะเริ่มลดลง ซึม เหงื่อออกมือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็วกรณีที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำช็อก และอาจเสียชีวิตได้ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมงและ 3.ระยะพักฟื้น อาการต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้นผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหารความดันโลหิตสูงขึ้นชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลงปัสสาวะมากขึ้นอาจมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกตามลำตัว ทั้งนี้ยังไม่มีวิธีรักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรงการรักษามีเพียงรักษาตามอาการและเฝ้าระวังภาวะช็อก หากประชาชนหรือคนในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง มีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่นไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ