กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.00-32.40 จับตาปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 21, 2018 14:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.00-32.40 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 32.16 ต่อดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 6.5 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 2.6 พันล้านบาท ส่วนเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นฟรังก์สวิส ขณะที่เงินยูโรแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือน โดยได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในอิตาลี กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ปัจจัยชี้นำสัปดาห์นี้จะมาจากบันทึกการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยเป็นที่น่าสนใจว่าการประชุมเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมเฟดระบุว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะปรับเข้าใกล้ Symmetric Inflation Goal ที่ 2% ในระยะกลาง ซึ่งตลาดตีความว่าเฟดอาจจะยอมรับได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่เหนือเป้าหมาย โดยเฟดจะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปแม้ตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัว หากเนื้อหาในรายงานการประชุมสอดคล้องกับท่าทีดังกล่าว ขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์อาจถูกจำกัดเป็นระยะ นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาบันทึกการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รวมถึงตลาดตราสารหนี้ยูโรโซนหลังว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลอิตาลีเรียกร้องเพื่อขอให้อิตาลีพักชำระหนี้อีซีบีจำนวน 2.5 แสนล้านยูโร สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สภาพัฒน์ฯ รายงานจีดีพีไตรมาส 1/2561 เติบโตสูงถึง 4.8% เทียบปีต่อปี ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่กนง.แถลงหลังการประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมว่า มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยมีแรงหนุนจากภาคส่งออกและท่องเที่ยว และการบริโภคมีสัญญาณดีขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ นอกจากนี้ ความเสี่ยงยังอยู่ที่ปัจจัยภายนอก อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศ ได้แก่ การใช้จ่ายภาครัฐซึ่งอาจล่าช้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ส่งผลบวกต่อรายได้ครัวเรือนอย่างทั่วถึง อนึ่ง กนง.เห็นว่าเงินทุนไหลออกไม่เป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบาย โดยการปรับนโยบายการเงินจะพิจารณาปัจจัยในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ดี กนง. มองว่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในระยะต่อไป ท่าทีดังกล่าวและข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าทางการจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.75% ก่อนสิ้นปีนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ