เชิญเยาวชนร่วมชม "สุริยคราส" ในงาน "มหกรรมสุริยุปราคา"

ข่าวทั่วไป Tuesday January 20, 2009 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สวทช. เมื่อวันที่ 20 มกราคม นาวาอากาศเอก ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เปิดเผยว่า เนื่องในวันจันทร์ที่ 26 มกราคม ประเทศไทยจะมีโอกาสได้เห็นสุริยุปราคาบางส่วน ซึ่งเป็นช่วงเวลาดีที่ท้องฟ้าเปิด จึงนับเป็นโอกาสที่เหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้แก่เยาวชน ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. และสถาบันการศึกษาอีกกว่า 10 สถาบัน จึงได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมสุริยุปราคา” ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างเวลา 15.00 — 18.00 น. โดยมุ่งหวังให้นักเรียน ครูและผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาผ่านกล้องดูดวงอาทิตย์ที่จะทำให้เห็นได้ชัดเจนและปลอดภัย พร้อมทั้งมีวิทยากรคอยให้ความรู้เรื่องการเกิดสุริยุปราคาแบบต่างๆ อย่างใกล้ชิด “ ภายในงาน ทางสถาบันการศึกษาต่างๆจะร่วมกันจัดตั้งกล้องโทรทรรศน์ติดตั้งแผ่นกรองแสงอาทิตย์กว่า 20 ตัว โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ กล้องแต่ละตัวจะมีขนาดที่หลากหลาย และมีการติดตั้งแผ่นกรองแสงที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้เห็นดวงอาทิตย์ในมุมมองที่แตกต่างกันด้วย เช่น แผ่นกรองแสงอาทิตย์ไฮโดรเจน-แอลฟา จะทำให้เห็นพวยแก๊สสีแดงของดวงอาทิตย์ , แผ่นกรองแสงอาทิตย์แคลเซียม-เค จะทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นสีน้ำเงิน ขณะที่กล้องดูดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่จะทำให้เห็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ ทั้งนี้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ดังกล่าวนับเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ยาก และมีราคาแพง เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกล้องโทรทรรศน์ชุดประกอบที่จะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้องค์ประกอบและหลักการทำงานของกล้อง รวมทั้งยังได้ทดลองประกอบกล้องโทรทรรศน์ด้วยตนเองอีกด้วย” นาวาอากาศเอก ฐากูร กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมสุริยุปราคาครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ซึ่งมุ่งหวังอยากให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้เรียนรู้การเกิดสุริยุปราคาผ่านปรากฏการณ์จริง ซึ่งจะทำให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการชมผ่านกล้องโทรทรรศน์จะทำให้เยาวชนได้เห็นดวงอาทิตย์อย่างใกล้ชิด ได้เห็นพวยก๊าซในดวงอาทิตย์และเข้าใจอย่างแท้จริงว่าดวงอาทิตย์มีองค์ประกอบหลักเป็นก๊าซไฮโดรเจน อีกทั้งยังได้เห็น จุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ซึ่งก็คือพื้นที่ส่วนหนึ่งที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณโดยรอบ ไม่ใช่จุดดับของดวงอาทิตย์อย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ ที่สำคัญการรวมตัวกันของครูและเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆยังเป็นการเปิดโอกาสให้ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ตลอดจนสานความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ อีกด้วย อย่างไรก็ดี คณะผู้จัดงานขอเชิญชวนโรงเรียน,สถาบันการศึกษาต่างๆ และประชาชนที่มีความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมสุริยุปราคาล่วงหน้า เพื่อทางคณะผู้จัดงานจะได้จัดเตรียมแว่นตาสำหรับดูสุริยุปราคาอย่างครบถ้วน และขอสงวนสิทธิ์ให้แก่ผู้ลงทะเบียนเท่านั้น(มีจำนวนจำกัด) ส่วนสถาบันใดที่นำกล้องโทรทรรศน์เข้าร่วมจัดงาน ทางทีมงานจะจัดเตรียมแผ่นกรองแสงอาทิตย์และมอบเกียรติบัตรให้ในฐานะผู้ร่วมจัดงานด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบตอบรับที่ www.lesaproject.com และส่งกลับมาที่โทรสาร.02-993-6629 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณกรรณิการ์:087-9206630, ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461-1462 รายละเอียดภาพประกอบ 1. ภาพจำลองปรากฏการสุริยุปราคาบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. ตัวอย่างภาพดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งแผ่นกรองแสงอาทิตย์ไฮโดรเจน-แอลฟา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สวทช. โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461-1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : thaismc@nstda.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ