iTAP หนุนอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เสริมความรู้ไอที หวังเพิ่มศักยภาพภาคผลิต

ข่าวทั่วไป Friday March 6, 2009 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--สวทช. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของประเทศ แต่ยังประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การขาดแคลนวัตถุดิบประเภทไม้ ขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญด้านเทคนิคการผลิต อีกทั้งยังขาดแคลนเทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม้ให้มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ยิ่งปัจจุบันการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หรือ ดีไซน์ เป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและส่งผลให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆมีความโดดเด่นมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย ซึ่งกำลังประสบปัญหาต่างๆหันมาสนใจยกระดับการออกแบบผลิตภัณฑ์และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ สนับสนุนโดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่อง CNC ในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนแก่กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไม้และผู้สนใจทั่วไป ณ อาคารสถาบันค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ชนะ รักษ์ศิริ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรหลัก กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตไม้ให้มีคุณภาพ และใช้ไม้อย่างมีคุณค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อให้เกิดเครือข่ายระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมมือกันยกระดับเทคโนโลยี รวมทั้งให้สามารถนำเทคโนโลยีใหม่มาพัฒนาสินค้า อาทิ การนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบอย่างโปรแกรม CAD (Computer Aided Design) ซึ่งเป็นโปรแกรมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน เนื่องจากหากมีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกแบบจะช่วยให้ทำงานได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว ทำให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆทั้งในแบบ 3 มิติและ 2 มิติ สามารถตรวจสอบความผิดพลาดของการออกแบบ อีกทั้งยังช่วยจำลองการทำงานของผลิตภัณฑ์ ลดของเสียในกระบวนการผลิตชิ้นงาน เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต CAM (Computer Aided Manufacturing) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับสร้างทางเดินของมีดตัดเฉือนในการผลิตด้วยเครื่องจักรกลซีเอ็นซี ช่วยให้สามารถจำลองทางเดินของ มีดตัดเฉือนเพื่อใช้ในการตรวจสอบทางเดินของมีดตัดเฉือนก่อนทำการผลิตจริง รวมทั้งช่วยประมาณเวลาที่ใช้ในการผลิตได้ ทำให้สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างถูกต้อง ดร.ชนะ กล่าวอีกว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมไม้ของประเทศ ปัจจุบันยังประสบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือ และกระบวนการที่เหมาะสมในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนในรูปร่างและโครงสร้าง รวมทั้งยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และความชำนาญทางด้านการใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โครงการนี้จึงพยายามที่จะจัดอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำทรัพยากรไม้ได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ในการอบรมสัมมนาครั้งนี้ยังมีการแนะนำส่งเสริม การใช้เครื่องจักรกลซีเอ็นซี (CNC) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อใช้สำหรับการตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องจักรประเภทนี้มาใช้ในโรงงาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับระบบผลิตเดิมเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ประหยัดต้นทุน ช่วยให้ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไทยมีมาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกต่อไป ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร.02-270-1350-4 ต่อ 115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ