ร.ร.สหัสขันธ์ศึกษา “พอเพียง” ด้วยใจเดียวกัน

ข่าวทั่วไป Tuesday March 17, 2009 11:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล เพราะรู้จัก “พอเพียง” ชีวิตจึงมีสุข และเพราะหล่อหลอมใจให้เป็นดวงเดียวกันได้ โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ จึงน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้จนมีดอกผล เป็นความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลง ครูจิรศักดิ์ คุณอุดม รอง ผอ.โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา เล่าว่า จุดเริ่มต้นของความพอเพียงที่โรงเรียนเริ่มจากความตั้งใจของครูในโรงเรียนที่ต้องการสนองงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และวิสัยทัศน์ของครูประพันธ์ ทักษิโณ อดีตผู้บริหารโรงเรียนที่หล่อหลอมดวงใจของเพื่อนครูให้เกิดศรัทธาและเห็นเป้าหมายร่วมกัน นับตั้งแต่ปี 2548 เพื่อนครูในโรงเรียนเริ่มพูดคุยกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถึงเศรษฐกิจพอเพียงบ่อยมากและนานหลายปีแล้ว เช่นในวโรกาสที่ข้าราชบริพารเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา แต่ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนจริงจัง โรงเรียนจึงต้องการทำงานในเรื่องนี้เพื่อสนองพระราชดำริ จุดนี้เองที่เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มก่อตัวในโรงเรียน อ.ประพันธ์จึงอาศัยการประชุมครูวาระหนึ่งเมื่อต้นปี 2549 จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของคณะครูในการช่วยกันขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเป็นเกียรติยศสำหรับวงศ์ตระกูลของผู้มีส่วนร่วม ซึ่งครูทุกคนเห็นด้วย ครูจิรศักดิ์ บอกว่า พิธีกรรมครั้งนั้นได้กระตุ้นให้ผู้บริหารและครูโรงเรียนศึกษา ทำความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้ง และครูแต่ละคนยังสัญญาว่าจะน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่สาระการสอนในวิชาที่รับผิดชอบอย่างน้อย 1 หน่วยการเรียนรู้ จนเวลานี้ อย่างน้อยทุกกิจกรรมในห้องเรียน ของ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ นักเรียนจะต้องวิเคราะห์และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพอเพียงได้ “เมื่อศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นก็ทำให้ทราบว่าสิ่งที่เราให้นักเรียนทำอยู่ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียง แต่เราไม่เคยวิเคราะห์เชื่อมโยงมาก่อน เช่น กิจกรรมยุวมัคคุเทศก์ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธรซึ่งเป็นแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้นักเรียนได้พบปะผู้คนมากมายและได้ฝึกภาษาอังกฤษเพื่อต้อนรับชาวต่างชาติ นักเรียนส่วนหนึ่งยังได้รวมกลุ่มทำของที่ระลึก เช่น ตัวต่อไม้ฉลุรูปไดโนเสาร์ พวงกุญแจรูปไดโนเสาร์ และที่เสียบปากการูปไดโนเสาร์ มอบเป็นของขวัญให้กับแขกของโรงเรียน จนเป็นที่รู้จัก สร้างชื่อเสียงแก่โรงเรียนอย่างมาก และยังพัฒนาเป็นทักษะอาชีพได้ด้วย” ครูจิรศักดิ์กล่าว โดยเมื่อนำ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียงมาวิเคราะห์ กิจกรรมยุวมัคคุเทศก์ พบว่าสามารถอธิบายได้ทุกเงื่อนไข ทั้งการใช้โอกาสที่ชุมชนมีทรัพยากรล้ำค่าอย่างซากดึกดำบรรพ์ มาทำประโยชน์แก่ชุมชน สอดคล้องกับหลักการของ “เหตุผล” การใคร่ครวญถึงศักยภาพ ความพร้อม และข้อจำกัด ก่อนให้นักเรียนทำกิจกรรม สอดคล้องกับหลักการของ “ความพอประมาณ” ขณะที่การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพนักเรียน อีกทั้งนักเรียนขยายผลกิจกรรมโดยทำของที่ระลึกเพื่อให้ชุมชนมีรายได้ เพิ่มความยั่งยืน สอดคล้องกับหลักการของ “การมีภูมิคุ้มกันที่ดี” ทั้งนี้การทำกิจกรรมดังกล่าวได้ปลูกฝังนักเรียนให้วางตนอยู่ภายใต้ 2 เงื่อนไขคือ “ความรู้คู่คุณธรรม” กับแขกผู้มาเยี่ยมเยือน ได้ใช้ทั้งความรู้และบ่มเพาะความรับผิดชอบในตนเอง นอกจากนี้ กิจกรรมอื่นๆ ของโรงเรียนที่ดำเนินการมาก่อนหน้าอีกหลายกิจกรรม เมื่อนำมาวิเคราะห์แล้วยังเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะในด้านการสร้างภูมิคุ้มกันในนักเรียนอย่างยั่งยืน ครูไข่มุก นาทองคำ ครูเศรษฐกิจพอเพียง และครูดีในดวงใจของโรงเรียน 4 ปีซ้อนยกตัวอย่างว่า กิจกรรมครอบครัว สศ. (สหัสขันธ์ศึกษา) ซึ่งครูประจำชั้นจะดูแลลูกศิษย์เสมือนเป็นพ่อแม่อีกคนที่โรงเรียน และมีการพูดคุยให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่ที่บ้านเพื่อพัฒนาตัวเด็ก เช่น ในเรื่องการศึกษาต่อในชั้นที่สูงขึ้น กิจกรรม สศ.สถานศึกษาสะอาด 1 บาทไม่ลงถัง ซึ่งดำเนินการมาหลายปี โดยจะปรับเงิน 1 บาทจากนักเรียนที่ทิ้งขยะไม่ลงถังสมทบเข้ากองกลางพัฒนาโรงเรียน ยังเป็นการปลูกฝังนิสัยรักษาความสะอาดแก่นักเรียน การรณรงค์ไม่ให้นักเรียนแต่งหน้าทาปากหรือพกข้าวของฟุ่มเฟือยอย่างโทรศัพท์มือถือและเครื่องสำอางมาโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนตั้งใจเรียนหนังสืออย่างเต็มที่ รวมทั้ง การมีตู้แดง รับเรื่องราวปัญหาจากนักเรียน ซึ่งนักเรียนจะต้องบอกชื่อจริงและชื่อห้องให้ติดตามได้ โดยครูจะเปิดใจและเชื่อในสิ่งที่นักเรียนเล่า เพื่อให้ลูกศิษย์มีที่พึ่งที่เชื่อใจได้ ครูไข่มุกบอกว่า ผลจากกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เห็นพัฒนาการของลูกศิษย์ที่ดีขึ้น และโรงเรียนยังมีความใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้น ขณะที่การประยุกต์สาระของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอนก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด “เคยคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่ดูยุ่งยาก ไม่รู้ว่าจะเชื่อมโยงการสอนอย่างไร แต่พอมาศึกษาก็พบว่าเราทำได้ ไม่ต้องรื้อแผนการสอนเดิม แต่แค่เติมเศรษฐกิจพอเพียงกับเนื้อหาเดิมให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น” ครูเศรษฐกิจพอเพียงท่านนี้ยังบอกด้วยว่า ไม่สำคัญว่าในตอนนี้ลูกศิษย์จะมีความเข้าใจในเศรษฐกิจพอเพียงมากหรือน้อยเพียงใด แต่ตัวเองในฐานะครู จะพยายามกระตุ้นให้นักเรียนคิดและนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาคุยกัน นำตัวอย่างใกล้ตัวมาแลกเปลี่ยนกันให้มาก “ไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องเก่ง แต่เข้าใจบ้าง เพื่อนำไปศึกษาต่อยอดได้เองในอนาคต” ส่วนดอกผลที่งอกเงยในตัวลูกศิษย์โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา นางสาว พรพรรณ ชัดกระโทก หรือ “ตั๊กกี้” บอกว่า เริ่มคุ้นชินกับการใช้ชีวิตแบบพอเพียงแล้ว ทำให้รู้จักใช้และประหยัดเงินมากกว่าแต่ก่อนที่ต้องคอยแคะกระปุกบ่อยๆ จึงทำให้ปัจจุบันมีเงินเก็บมากขึ้น และจากการที่ครูห้ามไม่ให้พกโทรศัพท์และเครื่องสำอางมาโรงเรียนยังทำให้ตั้งใจเรียน มีเวลาอ่านหนังสือ - ทำการบ้านมากขึ้น ทั้งนี้ โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษาเป็นหนึ่งใน 68 สถานศึกษาพอเพียงในเครือข่ายโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยเป็นหนึ่งใน 135 โรงเรียนทั่วประเทศที่ได้รับป้ายสถานศึกษาพอเพียงจากกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2550 ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ 086-547-2884, 0-2544-5692 หรือติดตามความเคลื่อนไหว และสามารถดาวน์โหลดภาพและรายละเอียดข่าวของมูลนิธิได้ที่ www.scbfoundation.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ