รู้จักเพื่อนต่างวัย...ในมสธ.

ข่าวทั่วไป Friday July 31, 2009 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ช่วงรับน้องของหลายมหาวิทยาลัยได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) กิจกรรมนี้เพิ่งจะเริ่มก่อเค้าเท่านั้น เพราะเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด งานนี้เฟรชชี่หมาดๆ รุ่นคุณลุง คุณป้า และคุณหลานที่อยู่เขตกรุงและชานเมืองให้ความสนใจกิจกรรมดังกล่าวกว่า 1,200 คน ธรรมชาติของมสธ.รู้กันดีว่าเป็นการเรียนตามอัธยาศัย ใครใคร่เรียนจึงเรียน ดังนั้นภาพรับน้องใหม่ของที่นี่จึงยากจะคิดว่าเป็นแบบใด โดยที่ผ่านมากว่า 31 ปีมีนักศึกษาจบไปแล้ว 27 รุ่น ในรั้วเขียว-ทองมีกิจกรรมนี้ตลอดมา ทว่าอยู่ในรูปแบบของประเพณีวิถีไทย ไม่หวือหวาครึกโครมเช่นมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่ง รศ.ปราณี สังขะตะวรรธน์ อธิการบดี มสธ. กล่าวถึงประเพณีรับน้องของ มสธ.ว่าเป็นเสมือนสะพานเชื่อมรุ่นพี่รุ่นน้องทุกจังหวัดเข้าด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม อาทิ การปลูกป่า สร้างห้องสมุด หรือการเป็นครูอาสาสมัคร อีกทั้งสายใยของพี่น้องจะแน่นแฟ้นแบบผู้ใหญ่คือค่อยๆ ก่อตัวโดยการแลกเปลี่ยนทัศนคติ การบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของรุ่นพี่ เพื่อน และรุ่นน้องต่างวัยได้อย่างลงตัว “น้องใหม่รุ่นลุงก็ให้คำแนะนำพี่ปีสี่รุ่นหลานได้ ขณะที่ความรู้ด้านวิชาการก็แลกเปลี่ยนกันในการออกค่ายรับน้อง ดังนั้นที่มสธ.จึงมีเพื่อนต่างวัยให้เห็นมากกว่าแห่งใดๆโดยในแต่ละจังหวัดจะมีการนัดวันเวลาที่รุ่นน้องสะดวก และรับน้องตามประเพณีของแต่ละภูมิภาค ภาคอีสานจะมีบายศรีสู่ขวัญน้อง ภาคกลาง ภาคใต้ ก็จะมีประเพณีที่ต่างกันไป” อธิการมสธ.กล่าว กนกวรรณ เศรษฐบุตร-ป้าวรรณ น้องใหม่สาขารัฐศาสตร์ วัย 72 ปี บอกว่า หลังจากจบอนุปริญญาตรีจากกศน.กรุงเทพฯก็ทำงานการเมืองระดับชุมชนเรื่อยมา และคิดว่าอยากหาความรู้เพิ่มเติมในระดับปริญญาตรีเพื่อที่จะนำสิ่งที่ได้ไปช่วยเหลือชุมชนอย่างที่เคยทำต่อไป แต่แม้ถึงวัยที่ข้อเข่าเริ่มเสื่อมบ้างแล้ว แต่ถ้ามีกิจกรรมของมหาวิทยาลัยป้าวรรณไม่ลังเล และตอบสั้นๆ เพียงว่า “ยินดี” “แค่ให้รุ่นพี่บอกมา การมาเรียนกับรุ่นลูกๆ หลานๆ เหมือนยาที่ทำให้เรากระชุ่มกระชวยรู้สึกมีความสุข ถ้าอยากมาเจอเพื่อนๆ ก็มาเรียน ถ้าไม่ว่างก็อ่านหนังสือ เลี้ยงหลานอยู่บ้านเขาเปิดให้เราตามสะดวก” ป้าวรรณบอกอย่างอารมณ์ดี ขณะที่สุมาลี ชิณนะรี-ฝน สาวทำงานวัย 23 ปี หลังเรียนจบระดับปวส.ก็ทำงานเกี่ยวข้องกับการขายและการตลาด ดังนั้นฝนจึงเลือกเรียนต่อเนื่องเฟรชชี่สาขาวิชาการจัดการการตลาด จากภาพของมหาวิทยาลัยเปิดและโลโก้ของการเรียนด้วยตัวเองทำให้ฝนไม่คิดว่า การมาเรียนที่มสธ.จะมีเพื่อน แต่เพียงวันปฐมนิเทศความคิดจึงเริ่มเปลี่ยน “คิดว่าลงทะเบียนแล้ว อ่านหนังสือ ต่างคนต่างเรียน ทำงานของตัวเอง ถึงเวลาก็สอบ ไม่คิดว่าจะมีการพบกันระหว่างน้องกับพี่ หรือมีการออกค่ายไปทำกิจกรรมด้วยกัน เห็นแบบนี้คิดเลยว่าตอนแรกคิดผิด และกิจกรรมที่มีก็น่าเข้าร่วมทั้งนั้น เพราะมันเป็นกิจกรรมช่วยเหลือสังคม” ขณะที่ ยัสมี จะปะกียา- ยัส หญิงสาววัย 19 ปี เป็นครูอาสาสมัครอยู่ที่มูลนิธิธรรมาณุสรณ์ และเลือกเรียนสาขามนุษย์นิเวศศาสตร์ของมสธ.เพราะต้องการนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาเด็กและครอบครัว ความฝันของยัสคืออยากให้เด็กมีคุณภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ยัสเคยเข้าระบบของมหาวิทยาลัยเปิดอย่างรามคำแหงมาเช่นกัน และเธอสะท้อนบรรยากาศของทั้งสองแห่งว่า บรรยากาศของมหาวิทยาลัยเปิดไม่ต่างกัน บรรยากาศรับน้องอบอุ่นและอยากเข้าร่วม สำหรับการเรียนเห็นว่าที่นี่เข้าถึงอาจารย์ได้ง่าย มีซีดีให้ดู เรียนผ่านทีวีได้แม้จะอยู่ไกลก็เข้าใจได้ ด้าน ร.ต.ต.ศักดา มะม่วงแก้ว อดีตนายตำรวจอายุ 61 ปี เลือกเรียนสาขาการส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อที่จะใช้ความรู้ไปประกอบอาชีพการเกษตร แม้จะยังไม่มีที่นาเป็นของตัวเองก็ตาม ร.ต.ต. ศักดา บอกว่าไม่เคยเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมาก่อน ซึ่งก่อนจะเป็นตำรวจตนจบแค่ม.3 ซึ่งบรรยากาศการรับน้องเช่นนี้น่าจะบันทึกไว้สำหรับช่วงเวลาแห่งการเป็นน้องใหม่วัยเลยเกษียณ และทิ้งท้ายว่า เรียนที่ไหนก็ไม่เกี่ยว อยู่ที่ว่าใจสู้หรือไม่ เพราะการศึกษาไม่เคยสิ้นสุด อายุแค่ไหนก็เรียนได้ ถึงตรงนี้พอเข้าใจได้ว่า ด้วยความหลากหลายนักศึกษาใหม่จำเป็นต้องปรับตัว กิจกรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มสธ.ใช้เป็นตัวกลางเพื่อให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง แบ่งปันความรัก น้ำใจ และเติมเต็มความหลากหลายทั้งเพศ วัย และวุฒิ...เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเลือดเขียว-ทอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ