โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

ข่าวทั่วไป Thursday November 19, 2009 16:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง รัฐบาล โดยการนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ซึ่งถือเป็นภารกิจจำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนที่มีหนี้นอกระบบเข้าเป็นหนี้ในระบบ โดยเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบสถาบันการเงินในเครือข่ายของรัฐได้ง่ายขึ้น อันเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่สูงมากเกินปกติ เพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอสำหรับรายจ่ายที่จำเป็นและมีเงินเหลือออมในที่สุด โครงการนี้ยังรวมถึงโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพของผู้มีปัญหาหนี้สินให้มีความเข้มแข็งและสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง มีการดำรงชีพภายใต้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมและกระตุ้นประชาชนให้มีการออมเงินเพื่อรักษาวินัยทางการเงินอันเป็นรากฐานที่สำคัญของครอบครัวและประเทศชาติ ในการนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรมร่วมกันผลักดันโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการประสานธนาคารในเครือข่ายของรัฐในการเปิดรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบพร้อมข้อเสนอเงินกู้ ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ และให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง เป็นผู้ร่วมดำเนินการในคณะเจรจาประนอมหนี้ในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น ได้มีการมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน (ศอก.นส.) กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานหลักในการอำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) และได้มอบหมายภารกิจให้ธนาคารในเครือข่ายของรัฐทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) และธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) (ธ.กรุงไทย) ไปร่วมกันดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ สำหรับขั้นตอนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบนั้น สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้ 1. เปิดรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบผ่านสาขาของ ธ.ก.ส. และ ธ.ออมสินทั่วประเทศ และศูนย์ลงทะเบียนอีก 12 แห่งในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. — 30 ธ.ค. 52 2. ประมวลผล คัดกรองประเภทลูกหนี้ และสรุปยอดลูกหนี้นอกระบบ โดยความร่วมมือของกรมบัญชีกลาง ระหว่างเดือนมกราคม 3. เจรจาและประนอมหนี้เพื่อนำลูกหนี้เข้าสู่ระบบ โดยมีคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินระดับจังหวัดและระดับอำเภอ พร้อมธนาคารของรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการเจรจา ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. — 30 เม.ย. 2553 4. ลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารภายใต้โครงการนี้ สามารถเริ่มเข้าสู่ระบบในเดือน พ.ค. 2553 5. กรณีลูกหนี้มีคุณสมบัติไม่ผ่านหลักเกณฑ์ จะมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้อีกครั้ง หากยังไม่สำเร็จ จะมีโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพให้มีความเข้มแข็งและสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไป โดยความร่วมมือระหว่าง ศอก.นส. ธนาคารเฉพาะกิจของรับ คลังจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 1 — 31 พ.ค. 2553 หลักเกณฑ์การพิจารณาโอนหนี้สำหรับลูกหนี้เบื้องต้น 1. เป็นหนี้นอกระบบที่มีเงินต้นคงค้างไม่เกิน 200,000 บาท และเป็นหนี้ที่เกิดก่อน 19 พฤศจิกายน 2552 2. ผ่านการเจราจาหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 3. วงเงินให้กู้ไม่เกิน 200,000 บาท 4. อัตราดอกเบี้ย - อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ใน 3 ปีแรก - สำหรับธนาคารออมสินใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.75 ต่อเดือน ตลอดระยะเวลาการกู้ 5. ระยะเวลาการผ่อนชำระไม่น้อยกว่า 8 ปี เว้นแต่ผู้กู้สมัครใจทำสัญญากู้น้อยกว่า 8 ปี 6. ผู้กู้สามารถชำระหนี้ก่อนกำหนดได้ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หลักประกันการโอนหนี้ - วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ใช้ผู้ค้ำประกัน 1 คน - วงเงินกู้ตั้งแต่ 100,001 — 200,000 บาท ใช้ผู้ค้ำประกัน 2 คน - ผู้ค้ำประกันต้องมีรายได้รวมไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของวงเงินกู้ หลักประกันกรณีของ ธ.ก.ส. ที่เป็นเกษตรกรค้ำประกัน - วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ใช้ผู้ค้ำประกัน 2 คน - วงเงินกู้ตั้งแต่ 100,001 — 200,000 บาท ให้ใช้หนังสือรับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม อย่างน้อย 5 คน เปิดรับลงทะเบียนโอนหนี้ วันที่ 1-30 ธ.ค. นี้ เวลา 8.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ ที่สาขา ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินทั่วประเทศ และศูนย์ลงทะเบียนอีก 12 แห่งในกรุงเทพฯ ข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1115 หรือ 02-555-0555

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ