“การอนุรักษ์ เผยแพร่ และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 19, 2004 15:06 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับ “การอนุรักษ์ เผยแพร่ และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น
1 .ความเป็นมา
ผลจากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมตะวันตกและความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมไทย การรับวัฒนธรรมต่างชาติโดยไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิต ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยสูญเสียไป เกิดการรับค่านิยมและแนวการปฏิบัติที่อาจไม่เหมาะสม วัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามและหลากหลายในสังคมสูญหายไป หรืออาจถูกบิดเบือนไปจากหลักการดั้งเดิมที่ดี รวมทั้งอาจถูกละเลยมิได้นำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนเท่าที่ควร
การรักษาความเสื่อมสลายทางวัฒนธรรมไทยให้กลับคงสภาพเดิม จึงเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วนสำหรับการคงอยู่ของประเทศชาติ โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็น “แกนนำ” ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ คณะทำงานการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะที่มีบทบาทในการส่งเสริม อนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีของประเทศ และมีบทบาทในการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายด้านศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จึงจัดทำโครงการศึกษา “การอนุรักษ์ เผยแพร่ และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น” ขึ้น โดยการศึกษาจากวัฒนธรรมในเขตวัฒนาเป็นกรณีตัวอย่าง
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาฯ
โครงการศึกษาเรื่อง “การอนุรักษ์ เผยแพร่และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น” มีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ ประการแรก เพื่อศึกษาแนวทางในการอนุรักษ์ เผยแพร่ และการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมในท้องถิ่น ประการที่สอง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ให้คนไทยและบรรดามิตรประเทศได้รู้จักอย่างกว้างขวางและประจักษ์ในคุณค่า และประการที่สาม เพื่อจัดทำรายงานเพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะแก่คณะรัฐมนตรี
สภาที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินการหลากหลายวิธีเพื่อรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการดำเนินการของสภาที่ปรึกษาฯ ในการศึกษาประเด็นนี้ ประกอบด้วย
การสำรวจวรรณกรรม โดยการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร รายงาน บทความวิชาการ ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ทั้งที่เป็นข้อมูลของภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ เผยแพร่ และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น
การอภิปราย เรื่อง “การอนุรักษ์ เผยแพร่ และใช้ประโยชน์วัฒนธรรมท้องถิ่น” เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2547 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์เผยแพร่ และ ใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น แก่ประชาชนทั่วไป อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังสืบสานวัฒนธรรมไทย เพื่อพัฒนาชาติสืบไป การสำรวจความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการอนุรักษ์ เผยแพร่ และใช้ประโยชน์วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยออกแบบสอบถามประชาชนทั้งในเขตวัฒนาและนอกเขตวัฒนา ทุกสาขาอาชีพทั้งจาก หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว ประมาณ 500 คน ได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นนี้ การจัดกิจกรรมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยและนานาชาติ จากนักเรียนและประชาชนจากชุมชนต่าง ๆ ในเขตวัฒนา รวมทั้งการแสดงจากสถานทูตต่าง ๆ จำนวนกว่า 20 ชุด
3. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการอนุรักษ์ เผยแพร่และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น
3.1 เจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญด้านวัฒนธรรมจากการศึกษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ พบว่า รัฐธรรมนูญฯ กล่าวถึง
- หน้าที่ของประชาชนในการพิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น
- สิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ
- หน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
- บทบาทหน้าที่ของรัฐในการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ
3.2 ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของรัฐในการอนุรักษ์ เผยแพร่และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น
สภาที่ปรึกษาฯ มีความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของรัฐ ดังต่อไปนี้
- ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการด้านวัฒนธรรมของรัฐยังขาดความชัดเจนเพียงพอ
- รัฐยังขาดการบูรณาการวัฒนธรรมไทยในการกำหนดนโยบายและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประเทศอย่างเพียงพอ
- รัฐยังไม่ได้ให้การสนับสนุนอย่างเพียงพอ เพื่อให้เกิดการสืบสานศิลปวัฒนธรรมอันดีของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น
- รัฐยังขาดการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเพียงพอ
- รัฐยังขาดการจัดระบบคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ
- รัฐยังมิได้เตรียมประชาชนให้มีความสามารถในการเลือกรับวัฒนธรรม และประยุกต์วัฒนธรรมต่างชาติให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย
- การดำเนินการด้านวัฒนธรรมของรัฐ เน้นการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม แต่ขาดการส่งเสริมการพัฒนาวัฒนธรรมไทยให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่
- การดำเนินการด้านวัฒนธรรมของรัฐ เป็นการดำเนินการในระดับรูปแบบของวัฒนธรรม แต่มีการถ่ายทอดเนื้อหาหรือหลักการอันดีที่อยู่เบื้องหลังของวัฒนธรรมไม่เพียงพอ
- การดำเนินการด้านวัฒนธรรมของรัฐเน้นการใช้มาตรการเชิงลบ การบังคับ และการห้ามมากกว่าการจูงใจ จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมส่วนบุคคลของประชาชน
4. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการอนุรักษ์ เผยแพร่และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น
สภาที่ปรึกษาฯ มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการอนุรักษ์ เผยแพร่และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังต่อไปนี้
4.1 กำหนดนิยาม ขอบเขต และเป้าหมายของการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมอย่างชัดเจน
วัฒนธรรมมีความหมายและขอบเขตที่กว้างขวางมาก หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านวัฒนธรรมควรกำหนดนิยาม ขอบเขต และเป้าหมายของการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของรัฐให้ชัดเจน รวมทั้งมีการจำแนกประเภทและจัดหมวดหมู่วัฒนธรรมอย่างชัดเจน เพราะการจัดการวัฒนธรรมแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ รัฐควรจัดลำดับของวัฒนธรรมแต่ละประเภท ที่รัฐควรเข้าไปจัดการหรือสนับสนุนในการอนุรักษ์ เผยแพร่ และใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยการกำหนดหลักเกณฑ์การจำแนกและเลือกสรรวัฒนธรรมที่รัฐควรให้การส่งเสริม และสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรตามหลักเกณฑ์และลำดับดังกล่าว
สภาที่ปรึกษาฯ มีความเห็นว่า รัฐควรเน้นการวิจัยและการรับฟังความเห็นจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น และแต่ละชาติพันธุ์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญ ๆ ดังนี้
หลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมองค์ประกอบของวัฒนธรรมที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาประเทศ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และต้องไม่ทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น และแต่ละชาติพันธุ์
หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมและผลงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีศักยภาพและไม่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ออกจากกัน เพราะรัฐอาจไม่มีความจำเป็นต้องอุดหนุนด้านการเงินกับกิจกรรมและผลงานด้านวัฒนธรรมที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่รัฐควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมและผลงานด้านวัฒนธรรมที่ไม่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์
หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนองค์ประกอบของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ในเชิงสังคม เพื่อที่รัฐจะกำหนดแนวทางการส่งเสริมได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละองค์ประกอบของแต่ละวัฒนธรรม
4.2 จัดทำระบบข้อมูลพื้นฐานทางวัฒนธรรม
ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานและกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในประเทศไทยยังมีอยู่น้อยมาก และขาดการจัดระบบ รวมถึงการประชาสัมพันธ์อย่างพอเพียง ซึ่งนับเป็นอุปสรรคต่อการจัดการวัฒนธรรมทั้ง ในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ดังนั้นรัฐควรมีการศึกษา ประมวล และรวบรวมฐานข้อมูลและสถิติด้าน ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยอาจจะจำแนกข้อมูลตามนิยาม ขอบเขต เป้าหมาย และหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้แล้ว เช่น ค่าใช้จ่ายเชิงวัฒนธรรม การค้าสินค้าเชิงวัฒนธรรม พฤติกรรมด้านวัฒนธรรมการอ่านหนังสือ การชมรายการโทรทัศน์ การฟังวิทยุ การเข้าชมการแสดง ชมพิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ แหล่งโบราณสถาน จำนวนและลักษณะของทรัพยากรทางวัฒนธรรมภายในท้องถิ่น การประเมินมูลค่าของทุนทางวัฒนธรรม นวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนในท้องถิ่น จำนวน ขนาดและประเภทของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม การจ้างงานในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เป็นต้น
ฐานข้อมูลที่ถูกรวบรวมและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ทันสมัย ครบถ้วน ครอบคลุมข้อมูลที่จำเป็นจะส่งผลดียิ่งต่อการนำไปใช้แก้ไขปัญหา พัฒนา และริเริ่มโครงการทางวัฒนธรรมในลำดับต่อไป ทั้งนี้ อาจเป็นการรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่แล้วแต่กระจัดกระจายให้มารวมกันอย่างเป็นระบบ หรืออาจเป็นสำรวจข้อมูลใหม่บางส่วนตามความเหมาะสม ในขณะที่รัฐควรจัดให้มีศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดมาตรฐานกลางในการจัดเก็บข้อมูล และประสานกับหน่วยงานด้านวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละท้องถิ่น ให้เป็นผู้มีส่วนในการจัดเก็บข้อมูล นอกจากนี้ควรมีการเชื่อมโยงเครือข่ายฐานข้อมูลของแต่ละท้องถิ่น เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล
4.3 พัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่น ควบคู่ การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นและชาติพันธุ์รัฐควรมองการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมให้กว้างกว่าความพยายามการเก็บรักษา หรือให้ ความสำคัญเฉพาะวัฒนธรรมดั้งเดิมเท่านั้น แต่วิธีการอนุรักษ์วัฒนธรรมได้ดีที่สุดคือ การพัฒนาวัฒนธรรมดั้งเดิมและสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ โดยยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรมท้องถิ่นและชาติพันธุ์ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
สภาที่ปรึกษาฯ มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังนี้
1) การพัฒนาศักยภาพของวัฒนธรรมท้องถิ่นและชาติพันธุ์
รัฐควรสนับสนุนกิจกรรมและผลงานด้านวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งดำเนินการพัฒนากิจกรรมและผลงานด้านวัฒนธรรมในท้องถิ่นและชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรม การสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรม และการสร้างความร่วมมือในการฝึกอบรมผู้ที่ทำงานด้านวัฒนธรรม
2) การพัฒนาสถานภาพของผู้ทำงานเชิงวัฒนธรรม
รัฐควรจัดระบบสวัสดิการของผู้สร้างสรรค์ผลงานทางวัฒนธรรม เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักเป็นผู้ที่ทำงานโดยอิสระ หรือเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งมักไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตัวอย่างของมาตรการพัฒนาสถานภาพของผู้ทำงานเชิงวัฒนธรรม อาทิ การสำรวจและรวบรวมฐานข้อมูลครูภูมิปัญญา การให้รางวัลแก่ผู้ทำงานด้านวัฒนธรรมดีเด่น การจัดตั้งสมาคมวิชาชีพของผู้ทำงานด้านวัฒนธรรม การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการของผู้ทำงานด้านวัฒนธรรม ฯลฯ
3) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่น และวัฒนธรรมประจำแต่ละชาติพันธุ์ รัฐควรส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมเชิงรุก โดยการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญา และวัฒนธรรมประจำแต่ละชาติพันธุ์ในแต่ละจังหวัด” ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม ศึกษาค้นคว้า สังเคราะห์ข้อมูลประวัติความเป็นมาของสิ่งของ สถานที่ วิถีชีวิต ประเพณี ฯลฯ ทั้งในอดีตและร่วมสมัยอย่างเป็นระบบ เจาะลึก และบูรณาการประวัติความเป็นมาของพื้นที่ต่าง ๆ ให้กลายเป็น “ผืนประวัติศาสตร์” เดียว ที่มีความหลากหลายแต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยให้เจ้าของวัฒนธรรมได้มีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนา อันเป็น “จุดเริ่มต้น” ของการอนุรักษ์ การพัฒนา โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์และสังคมได้หลากหลายด้านอย่างยั่งยืน
การจัดตั้งศูนย์นี้ควรได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณส่วนหนึ่งจากภาครัฐ โดยรัฐกำหนดเกณฑ์การให้เงินสนับสนุนการวิจัย ศูนย์นี้ควรเน้นการดำเนินงานด้านวิชาการและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้โดยอิสระ รวดเร็ว คล่องตัว มีความต่อเนื่อง และเป็นเอกภาพ จึงนับเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมเชิงรุก ซึ่งเหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันที่นวัตกรรมเป็นหัวใจของกิจกรรมต่าง ๆ และเป็นการนำวัฒนธรรมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืนไปในตัว เพราะวัฒนธรรมที่เรามีอย่างหลากหลายนั้นได้รับการประยุกต์ต่อยอดให้มีพลวัตร่วมสมัยอยู่ตลอดเวลา
4.4 กระจายอำนาจและบทบาทการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของรัฐ
รัฐควรกระจายอำนาจและบทบาทบางส่วนในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม ให้แก่หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน หรือองค์กรภาคประชาชนต่าง ๆ เป็นผู้ดำเนินการมากขึ้น เนื่องจากการดำเนินงานโดยหน่วยงานรัฐในบางด้านขาดประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับลักษณะทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น และทำให้งานเชิงวัฒนธรรมขาดความน่าสนใจ ประกอบกับการที่รัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนางานเชิงวัฒนธรรมของท้องถิ่นทั้งหมด
สภาที่ปรึกษาฯ มีความเห็นว่า รัฐควรกระจายอำนาจการดูแลงานบางส่วน อาทิ พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอศิลป์ หอสมุด ฯลฯ ให้จังหวัดและส่วนปกครองท้องถิ่นดูแลมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการกระจายอำนาจการปกครองและการคลังให้แก่ส่วนปกครองท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้งานเชิงวัฒนธรรมได้รับงบประมาณจากส่วนท้องถิ่นมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐยังอาจร่วมลงทุนกับภาคเอกชน หรือเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการด้านวัฒนธรรมของรัฐ โดยเฉพาะการให้ภาคเอกชนเข้ามาพัฒนาและบริหารพิพิธภัณฑ์ของรัฐ ซึ่งจะช่วยทำให้พิพิธภัณฑ์มีความน่าสนใจ และสามารถดึงดูดประชาชนเข้ามาชมได้มากขึ้น อันเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมได้กว้างขวางมากขึ้น และเพิ่มรายได้ให้แก่งานพิพิธภัณฑ์มากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐควรเปลี่ยนบทบาทจากผู้ดำเนินการเอง เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการของภาคเอกชนและประชาชน (ยกเว้นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูงมาก) เช่น การสนับสนุนสมาคมของผู้ผลิตสื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่เป็นทางการในการเก็บผลงานเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัยที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ภาพยนตร์ ผลงานเพลง และโฆษณา โดยรัฐออกกฎหมายให้ผู้ผลิตส่งต้นฉบับของผลงานทุกชิ้นไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้น และสนับสนุนงบประมาณบางส่วน เป็นต้น
4.5 การส่งเสริมศักยภาพหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของท้องถิ่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมศักยภาพของสภาวัฒนธรรม เนื่องจากสภาวัฒนธรรมมีความได้เปรียบด้านจำนวนและการครอบคลุมพื้นที่ เพราะกระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสภาวัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒนธรรมอำเภอ สภาวัฒนธรรมตำบล และสภาวัฒนธรรมในเขตกรุงเทพฯ หากได้รับการส่งเสริมร่วมกับหน่วยงานที่ส่งเสริมด้านวัฒนธรรม ย่อมสามารถขับเคลื่อนการใช้ศักยภาพทางวัฒนธรรมของชุมชนต่าง ๆ ให้ปรากฏออกมาได้
สภาที่ปรึกษาฯ มีความเห็นว่า สภาวัฒนธรรมควรได้รับการส่งเสริมบทบาทการดำเนินงานและบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ อาทิ
1) การได้รับการอบรมพื้นฐานการทำงานด้านวัฒนธรรม กลุ่มคนทำงานด้านวัฒนธรรมจำเป็นต้องได้รับการอบรมเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการทำงานทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการตระหนักและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตลอดจนสามารถใช้ฐานความรู้ความเข้าใจดังกล่าวในการต่อยอดความรู้เดิมและ/หรือถ่ายทอดสู่ ทีมงานรุ่นต่อไป ทั้งยังเอื้อต่อการคิดริเริ่มสร้างสรรค์แผนงานหรือโครงการส่งเสริมพัฒนาวัฒนธรรมใหม่ ๆ ได้อย่างมีพลวัต สอดคล้องและเท่าทันกับกระแสวัฒนธรรมโลก
2) การสร้างเครือข่ายเพื่อระดมสรรพกำลังต่าง ๆ จากภาคีทุกฝ่าย รัฐควรสนับสนุนให้เกิดการสร้างระบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงและสามารถสร้างความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนได้อย่างครอบคลุม “ทุกกลุ่ม” อย่างแท้จริง เพื่อให้สามารถระดมสรรพกำลังและทรัพยากรประเภทต่างๆ ภายใน ท้องถิ่นได้เต็มศักยภาพสูงสุด และเพียงพอต่อการดำเนินโครงการด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ ของท้องถิ่นในระยะยาว
3) การสนับสนุนสื่อเพื่อการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น รัฐควรสนับสนุนให้มีสื่อด้านวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น โดยใช้สื่อของรัฐ และจัดสรรช่องทางและเวทีในการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การจัดงานแสดงวัฒนธรรม การจัดสรรคลื่นหรือพื้นที่สื่อฯ หอศิลป์ ห้องแสดงงานทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมสัญจร นิทรรศการสัญจรทางวัฒนธรรม เพื่อให้งานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นมีพื้นที่ในการเผยแพร่มากขึ้น
4) การได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ โดยรัฐควรกำหนดสัดส่วนงบประมาณสนับสนุนสภาวัฒนธรรมอย่างชัดเจนและเพียงพอต่อการดำเนินงาน ทั้งนี้รัฐหรือส่วนการปกครองท้องถิ่น อาจจะจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นจากภาคธุรกิจมาสนับสนุนงานของสภาวัฒนธรรม
5) การมอบหมายบทบาทในการฝึกอบรมและจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถทางการคิดและการเรียนรู้ของประชาชน รัฐควรส่งเสริมให้สภาวัฒนธรรมทำหน้าที่จัดฝึกอบรมประชาชนทั่วไป ตลอดจนประสานงานกับโรงเรียนในการทำหลักสูตรการคิดอย่างมีเหตุผลในการเลือกรับวัฒนธรรมต่าง ๆ และการจัดส่งเจ้าหน้าที่ของทางสภาวัฒนธรรมฯ ไปเป็นวิทยากรให้ความรู้อบรมแก่นักเรียนและประชาชนทั่วไป ส่วนการพัฒนาโดยอ้อม ควรให้ทุก ๆ กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่จัดขึ้น มีการสอดแทรกเนื้อหาสาระในส่วนที่กระตุ้นและสร้างความเข้าใจให้ประชาชน ประยุกต์ใช้วัฒนธรรมไทยเข้ากับบริบทสังคมร่วมสมัยได้อย่างเหมาะสม
4.6 ส่งเสริม “สิทธิทางวัฒนธรรม” “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” และ “การมีส่วนร่วม” ของประชาชนรัฐบาลต้องตระหนักถึงสิทธิทางวัฒนธรรมของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น และชาติพันธุ์ในการที่จะคุ้มครอง ปกป้องและดำเนินการตามจารีตประเพณีของตัวเองตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ รวมถึงการตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่ประกอบด้วยคนหลายชนเผ่าหลายชาติพันธุ์ การก่อเกิดและการพัฒนาทางวัฒนธรรม จึงมีความหลากหลายและแตกต่างตามที่มาแห่งความเชื่อ ศาสนา และภูมิหลังของแต่ละวัฒนธรรมนั้น ๆ จะทำให้การพัฒนาด้านวัฒนธรรมตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
1) จัดเวทีวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสของประชาชนในการเผยแพร่วัฒนธรรมในท้องถิ่นของตน และสร้างช่องทางในการเข้าถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่ประชาชนกลุ่มใหญ่ในท้องถิ่นเท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนคนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองด้วย ที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมชุมชน อันจะก่อให้เกิดความงอกงามและการผสมผสานทางวัฒนธรรมของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ
2) จัดตั้งโครงการความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน สามารถสมัครเข้าไปในโครงการเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างความคิดที่เคารพต่อวัฒนธรรมที่ต่างออกไปจากตนเละยอมรับความแตกต่างที่สามารถอยู่ร่วมกันได้
3) ใช้มาตรการจูงใจไม่ใช่การบังคับ ภาครัฐจำเป็นต้องตระหนักถึงสิทธิทางวัฒนธรรมของประชาชน โดยไม่ออกกฎหรือข้อบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตาม หากกฎหรือข้อบังคับนั้นได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐควรเปลี่ยนเป็นการรณรงค์ การจูงใจ และการขอความร่วมมือ ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่า
4) กำหนดวัน “วัฒนธรรม” แต่ละจังหวัด และวันวัฒนธรรมแต่ละ “ชาติพันธุ์” กระทรวง วัฒนธรรมอาจกำหนดให้วันใดวันหนึ่งเป็นวันวัฒนธรรมแห่งชาติ หรือเปิดโอกาสให้แต่ละจังหวัดกำหนดวันวัฒนธรรมประจำจังหวัด และวันวัฒนธรรมประจำชาติพันธุ์ของตนขึ้นเอง เช่น กรุงเทพมหานครอาจกำหนดวัน “วัฒนธรรมกรุงเทพฯ” ชาวไทลื้อมีวัน “วัฒนธรรมชาวไทลื้อ” ขึ้น โดยให้สถานศึกษาทุกแห่งและหน่วยงานราชการของกรุงเทพมหานคร สภาวัฒนธรรมของทุกเขต ร่วมกับภาคธุรกิจ องค์กรทางศาสนา ประชาคมด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีในเขต ร่วมจัดงานวันหรือสัปดาห์วัฒนธรรมขึ้น มีกิจกรรมการจัดประกวดประดิษฐ์สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาใหม่ ๆ การแสดงวัฒนธรรมหรือสิ่งดีในแต่ละเขต เช่น อาหาร ผลงานจากวิชาชีพ การแสดงต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ เกิดความกระตือรือร้นในการอนุรักษ์ สืบสานและใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนอย่างต่อเนื่อง
5) กำหนดมาตรการจูงใจให้บริจาคเพื่อการส่งเสริมวัฒนธรรม รัฐควรใช้มาตรการทางภาษี เพื่อ จูงใจให้ภาคเอกชนและประชาชนบริจาคเพื่องานด้านวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น การยกเว้นภาษีสำหรับเงินบริจาค การนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ การงดเว้นการเก็บภาษีมรดกหากนำมรดกส่วนหนึ่งไปบริจาคสำหรับงานด้านวัฒนธรรม เป็นต้น รวมทั้งการสนับสนุนหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไรหรือมูลนิธิต่างๆ เข้ามามีส่วนในการระดมทรัพยากรเพื่อการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น
6) การคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของแต่ละชาติพันธุ์และผลงานทางวัฒนธรรมตามกฎหมายลิขสิทธิ์ รวมทั้งการจัดระบบคุ้มครองสิทธิในผลงานการสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมประเภทต่าง ๆ เช่น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมและวัฒนธรรมประจำแต่ละชาติพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งควรเป็นระบบที่มีต้นทุนในการจดทะเบียนต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถรับการคุ้มครองได้อย่างทั่วถึง
4.7 ส่งเสริมการลงทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเป็นทุนทางสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน
การอนุรักษ์ เผยแพร่ และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ควรละเลยมิติทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เนื่องจากปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมสามารถธำรงอยู่ได้ คือ ความสามารถในการสร้างผลตอบแทนเชิงเพาณิชย์ ดังนั้นหากรัฐสามารถทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ เผยแพร่ และใช้ประโยชน์จากมรดกทางวัฒนธรรม ได้รับผลตอบแทนที่เพียงพอแล้ว จะทำให้งานด้านวัฒนธรรมสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้รัฐควรให้ความสำคัญกับการลงทุนทางวัฒนธรรม โดยมีแนวทางสำคัญ ๆ ดังนี้
1) สร้างศูนย์วัฒนธรรมร่วมสมัยครบวงจรแห่งเอเชีย รัฐควรมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านวัฒนธรรม โดยการสร้าง “ศูนย์วัฒนธรรมร่วมสมัยครบวงจรแห่งเอเชีย” หรือศูนย์กลาง “การค้าและการเรียนรู้แห่งเอเชียเพื่อเป็นศูนย์สำหรับการแสดงเผยแพร่ และเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการท่องเที่ยว ทำให้คนที่ทำงานด้านวัฒนธรรมมีรายได้สูงขึ้น และเป็นแหล่งในการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ต่อยอดองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันและกัน และเพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านสังคมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมต่อไป
2) ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม รัฐควรกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม หรืออุตสาหกรรมอื่นที่ใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นทุนในการผลิตและบริการ เช่น อุตสาหกรรมพิพิธภัณฑ์ โรงละคร โรงภาพยนตร์ หอศิลป์ รวมทั้งอุตสาหกรรมอัญมณี อุตสาหกรรมแฟชั่น และสื่อสารมวลชนที่มีการนำวัฒนธรรมไทยมาประยุกต์หรือต่อยอด เป็นต้น แต่ควรระมัดระวังสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสียหายความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนทางวัฒนธรรม ดังนั้นควรมีการตรวจสอบจากเจ้าของวัฒนธรรมหรือผู้เชี่ยวชาญอย่างเข้มงวด
3) จัดตั้งกองทุนสนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ รัฐควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการสนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ เช่น กองทุนส่งเสริมจิตรกรรม กองทุนส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์ท้องถิ่น กองทุนสนับสนุนการผลิตและการแปลหนังสือ กองทุนภาพยนตร์ กองทุนวัฒนธรรมประจำชาติพันธุ์ เป็นต้น
4.8 สร้างการเห็นคุณค่าวัฒนธรรมท้องถิ่น
การที่วัฒนธรรมท้องถิ่นจำนวนมากเสื่อมสลายไป เนื่องจากประชาชนในท้องถิ่นไม่เห็นคุณค่าวัฒนธรรมดังกล่าว ดังนั้นรัฐควรให้ความสำคัญในการทำให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยมีแนวทาง ดังนี้
1) ส่งเสริมวัฒนธรรมศึกษา โดยการสอดแทรกเนื้อหาและกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมลงในหลักสูตรการเรียนการสอน และให้สถานศึกษาในแต่ละชุมชนเป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม เช่น การนำครูภูมิปัญญามาให้ความรู้กับนักเรียน การนำผลงานของศิลปินไปแสดงในสถานศึกษา การสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับนักเรียน และการจัดแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่น
2) สนับสนุนสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมโดยการจัดซื้อภาครัฐ รัฐควรส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐที่จำเป็นต้องจัดซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อสินค้าและบริการด้านวัฒนธรรมจากท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนผลงานด้านวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่าง ๆ และส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีอิสระในการใช้ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การแต่งกาย ผ้าทอ และอื่นๆ ตามความแต่ละวัฒนธรรมท้องถิ่น
3) การผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม โดยการสนับสนุนเงินทุนให้กับภาคเอกชนเพื่อจัดทำสื่อที่มีคุณภาพสำหรับการเผยแพร่วัฒนธรรม โดยมีหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนอย่างชัดเจนและพิจารณาเป็นรายโครงการ และใช้สื่อที่หลากหลายในการเผยแพร่วัฒนธรรม เช่น สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ภาพยนตร์ ดนตรี ละคร เป็นต้น ทั้งนี้แหล่งที่มาของเงินทุนดังกล่าวควรมาจากการจัดเก็บภาษีรายได้ของสื่ออื่น ๆ ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาหรือส่งเสริมวัฒนธรรม
4.9 สร้างวัฒนธรรมที่ปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่ดี
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ