In Focusจับชีพจร 4 แคนดิเดทล็อตแรกจากค่ายรีพับลิกันและเดโมแครต ลงศึกชิงปธน.สหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 22, 2015 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้ว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 58 จะมีกำหนดจัดขึ้นในวันอังคารที่ 8 พ.ย. 2559 แต่สมาชิกค่ายเดโมแครตและรีพับลิกันต่างไม่ยอมเสียเวลา ทยอยประกาศเปิดตัวลงศึกสังเวียนการหาเสียงกันอย่างคึกคัก ด้วยคุณสมบัติ ผลงาน และบุคลิกที่หลากหลายของแคนดิเดทเหล่านี้ ทำให้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งล่าสุดเต็มไปด้วยสีสัน

In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอนำเสนอประวัติและผลงานของเหล่าผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่ล็อตแรก รวมทั้งตัวเต็งที่คาดว่า จะประกาศตัวในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ ทายาทจากตระกูลบุช รวมทั้งดาวเด่นอย่างวุฒิสมาชิกเชื้อสายคิวบา

“ฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตัน"กับต้นทุนทางการเมือง

ฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตัน เป็นตัวเต็งที่มาพร้อมกับต้นทุนทางการเมืองที่ได้เปรียบ เธอเกิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2490 ที่ชิคาโก้ และสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเยลเมื่อปี 2516 และแต่งงานกับบิล คลินตัน เมื่อปี 2518

ในช่วงปี 2536-2544 ฮิลลารีได้รณรงค์เรื่องการขยายขอบเขตสิทธิการประกันสุขภาพและสตรีในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เมื่อปี 2543 เธอได้รับการลงคะแนนเสียงให้เป็นวุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์ก และได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีกครั้งในปี 2549

เมื่อปี 2551 ฮิลลารีคว้าน้ำเหลวในการเป็นตัวเก็งลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในสังกัดพรรคเดโมแครตให้แก่บารัค โอบามาที่สามารถคว้าชัยขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ส่งผลให้พรรคต้องหามาตรการปลอบใจด้วยการตัดสินใจให้เธอทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ในช่วงปี 2552-2556

ฮิลลารีจึงเป็นอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกของสหรัฐที่ได้ทำหน้าที่ในคณะรัฐมนตรี ในระหว่างการทำหน้าที่เป็นเวลา 4 ปีนั้น ฮิลลารี ได้เดินทางเยือนประเทศต่างๆถึง 112 ประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการเยือนที่มากกว่ารมว.ต่างประเทศคนก่อนๆของสหรัฐ

แม้ว่า ฮิลลารีจะมีผลงานทางการเมืองที่โชกโชน แต่นักวิเคราะห์ได้ออกมาวิจารณ์ฮิลลารีภายหลังจากที่เธอประกาศลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐว่า เธอมีบุคลิกที่ขาดเสน่ห์ ไม่เหมือนบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งเป็นสามีของเธอ และการเปิดโปงเรื่องที่เธอใช้แอคเคาท์อีเมลส่วนตัวในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ฮิลลารีใช้แอคเคาท์อีเมลส่วนตัวในการทำธุรกิจในช่วงที่ทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ และยังเก็บเซิร์ฟเวอร์ไว้ที่บ้านของเธอเอง

ประเด็นนี้จุดชนวนความขัดแย้งและคำถามมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นข้อสงสัยที่ว่าเธอส่งข้อมูลลับผ่านอีเมลของเธอเองหรือไม่ แม้ว่า เธอจะออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยส่งอีเมลข้อมูลลับเลยก็ตาม แต่เหล่านักวิจารณ์กลับมองว่า ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานในกระทรวงการต่างประเทศ จึงเป็นไปไม่ได้ที่การส่งข้อมูลลับจะไม่กระทำผ่านอีเมล

ตัวอย่างของจุดอ่อนดังกล่าวปรากฎให้เห็นแล้วในช่วงที่เธอแข่งกับโอบามา เพื่อชิงตำแหน่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเดโมแครตเมื่อปี 2551 จากสโลแกนของเธอที่ว่า "I'm in it to win it" ซึ่งสโลแกนหาเสียงดังกล่าวทำให้ผู้คนมองว่า เธอหยิ่งและห่างไกลจากประชาชนชาวอเมริกัน

อย่างไรก็ดี ทีมงานของฮิลลารีได้เตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี เพื่อกู้จุดอ่อนของเธอในศึกชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคและผู้นำประเทศ ซึ่งจะเห็นได้จากหนึ่งในหัวกะทิทีมงานของเธออย่างจอห์น โพเดสต้า ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานการหาเสียงของฮิลลารี ก่อนหน้านี้ จอห์นเคยเป็นประธานทีมงานของบิล คลินตัน ประจำทำเนียบขาว และยังเป็นที่ปรึกษาสูงสุดของโอบามา ด้วยคุณสมบัติที่สำคัญของการพูดความจริงทำให้บทบาทการตัดสินใจของจอห์นได้รับการรับฟังไม่น้อยไปกว่าใคร

การกำจัดจุดอ่อนของเธอเริ่มต้นทันทีกับการเดินทางหาเสียงที่รัฐไอโอว่า ซึ่งเป็นรัฐที่เธอเคยได้คะแนนเสียงเพียงอันดับที่ 3 ในระหว่างการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกตัวแทนของเดโมแครตโดยสมาชิกพรรคในรัฐเมื่อปี 2551 คราวนี้ ฮิลลารีเลือกที่จะขับรถแวนด้วยตนเองไปยังไอโอว่า พร้อมกับนั่งทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารเม็กซิกัน ซึ่งโหมดการเดินทางและปฏิบัติตัวของเธอครั้งนี้แตกต่างกับการหาเสียงเมื่อปี 2551 อย่างสิ้นเชิง คราวนั้น ฮิลลารีพลาดอย่างแรงกับการเดินทางไปหาเสียงที่ไอโอว่าด้วยเฮลิคอปเตอร์ นอกจากนี้ ฮิลลารียังได้พบปะพูดคุยกับผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในกลุ่มนักศึกษาและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก

แต่ก็ใช่ว่าจุดแข็งของฮิลลารี จะไม่มี ในช่วงที่เธอรับตำแหน่งรมว.ต่างประเทศนั้น ฮิลลารี ได้ผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีมาแล้ว ในขณะที่ความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียในช่วงที่เป็นรมว.ต่างประเทศก็เรียกได้ว่าสร้างความประทับใจได้ไม่น้อย เมื่อเทียบกับรมว.ต่างประเทศคนก่อนๆของสหรัฐที่เรียกได้ว่า ให้ความสนใจกับเอเชียไม่เท่ากับฮิลลารีที่เดินทางมาประชุมในภูมิภาคแทบทุกครั้ง

มาร์โค ลูบิโอ วุฒิสมาชิกเชื้อสายคิวบา

มาร์ค ลูบิโอ วุฒิสมาชิกรัฐฟลอริด้า วัย 43 ปี จากพรรครีพับลิกัน เป็นอีกดาวเด่นในศึกยกแรก ด้วยแบ็คกราวด์ที่แตกต่าง จับต้องได้และมัดใจชาวอเมริกัน ลูบิโอ เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายคิวบา พ่อและแม่ของเขาลี้ภัยจากคิวบาเข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา พ่อของเขาทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ ส่วนแม่ทำงานเป็นแม่บ้าน ลูบิโอ ต้องกู้เงินจากโครงการเงินกู้นักศึกษาจนสามารถจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี และก้าวเข้าสู่วงการการเมืองในฐานะนักการเมืองท้องถิ่นไปจนถึงเวทีการเมืองระดับวุฒิสภา

ด้วยเหตุนี้ ลูบิโอ จึงมักจะชูจุดเด่นในการหาเสียงในฐานะชนชั้นกลางและยังเป็นผู้ที่มีเชื้อสายมาจากผู้ลี้ภัยชาวคิวบา เพื่อที่จะเชื่อมโยงความเหมือนของตนเองเข้ากับครอบครัวชนชั้นกลางชาวอเมริกันในปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ประเด็นที่ลูบิโอได้นำเสนอนั้น ไม่วายใกล้เคียงกับฮิลลารีตรงที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมุ่งนำเสนอในประเด็นที่ว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว ใช่ว่า ชนชั้นกลางจะลืมตาอ้าปากได้ ชนชั้นบนเท่านั้นที่ดูเหมือนว่า จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ด้วยลีลาและโวหารในการหาเสียงที่ตีกระทบชิ่งว่าที่คู่แข่งอย่างเจบ บุช และฮิลลารีนั้น ดูเหมือนว่า ลูบิโอ จะได้ใจชาวอเมริกันไปได้โขอยู่ และสื่อต่างประเทศก็มักจะรายงานเปรียบเทียบประเด็นการหาเสียงของแคนดิเดท 3 รายนี้ ล่าสุด ลูบิโอ กล่าวกระทบชิ่งนโยบายคู่แข่งได้อย่างมีสีสันว่า “เมื่อวานนี้ ที่ผู้นำของวันวานได้เริ่มแคมเปญหาเสียงด้วยการให้คำมั่นว่าจะพาเรากลับสู่วันวาน" “ วันวานได้ผ่านพ้นไปแล้ว และเราไม่เคยที่จะย้อนกลับไป"

หรือวาทะที่ว่า “ในหลายประเทศ ตำแหน่งสูงสุดมักจะอยู่ในมือของคนรวยและมีอำนาจ แต่ผมอยู่ในประเทศที่ได้รับการยกเว้น ประเทศที่แม้แต่ลูกของบาร์เทนเดอร์หรือแม่บ้านก็สามารถมีฝันและอนาคตเดียวกันกับผู้ที่มีอำนาจและร่ำรวยได้" จุดยืนในการหาเสียงจากเรื่องราวจากชีวิตจริงของลูบิโอ ซึ่งมาจากครอบครัวผู้ลี้ภัยที่ยากจนและสามารถลืมต้าอ้าปากจนเข้าสู่เวทีการเมืองในระดับประเทศได้นั้น มักจะเป็นเรื่องราวที่ได้รับการยอมรับในแวดวงชาวอเมริกันที่ภูมิใจในเสรีภาพของประเทศซึ่งเปิดโอกาสให้กับชนทุกชั้นที่สามารถพิสูจน์ตัวเอง

แรนด์ พอล กับนโยบาย “Anti Washington"

แรนด์ พอล วุฒิสมาชิกรัฐเคนตัคกี้จากพรรครีพับลิกัน ประกาศตัวชิงตำแหน่งผู้แทนพรรครีพับลิกันอีกราย เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยประกาศเปิดตัวที่รัฐเคนตัคกี้ ซึ่งเป็นฐานเสียงของตนเอง วุฒิสมาชิกสมัยแรกผู้นี้เป็นลูกหม้อในแวดวงการเมืองมานาน พอลเป็นบุตรชายของรอน พอล สมาชิกพรรครีพับลิกัน ซึ่งลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐมาแล้วหลายครั้ง

แรนด์ พอล ดูเหมือนจะมีจุดยืนที่ค่อนข้างจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากผู้แทนพรรครีพับลิกันคนอื่นๆ พอลได้วิจารณ์ทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตว่าเป็นหุ่นการเมืองที่ไม่ตอบสนองชาวอเมริกันในงานเปิดตัว เพื่อนำเสนอจุดยืน “Anti Washington"ในการรณรงค์หาเสียง

ที่ผ่านมา พอลได้รับความสนใจจากประชาชนจากการปราศรัยนานกว่า 12 ชั่วโมงเพื่อคัดค้านนโยบายการใช้ยานอากาศที่ไร้คนขับหรือโดรน รวมทั้งการสอดแนมซึ่งเป็นนโยบายของประธานาธิบดีบารัค โอบามา รวมทั้งการคัดค้านการเสนอชื่อนายจอห์น เบรนแนน เป็นหัวหน้า CIA

ด้วยความพยายามที่จะสร้างความแตกต่างทำให้คอลัมนิสต์ในสื่อสหรัฐมองว่า พอลเป็นแคนดิเดทที่จู้จี้ เปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนเองเพื่อที่จะดึงคะแนนเสียงจากฐานเสียงรีพับลิกัน และยังใช้สำนวนโวหารมากจนเกินไปจนขาดความชัดเจนว่า เขาจะเป็นผุ้แทนพรรครีพับลิกันแบบใดเมื่อต้องขึ้นเวทีหาเสียง

เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกเชื้อสายแคนาดา

ครูซ วัย 44 ปี เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันคนแรกที่ประกาศชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเพื่อลงศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ เกิดที่แคนาดา และต้องยกเลิกสัญชาติพลเรือน 2 สถานะเมื่อปีที่แล้ว เพื่อกำจัดข้อครหาและข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของตนเอง บรูซได้รับการเลือกตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกเมื่อปี 2555 และเมื่อเดือนก.ย. 2556 ครูซก็เคยสร้างผลงานด้วยการกล่าวปราศรัยโจมตีนโยบายด้านสุขภาพของโอบามาเป็นเวลานานถึง 21 ชั่วโมง นับเป็นหนึ่งในการปราศรัยที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์วุฒิสภาสหรัฐเลยทีเดียว

“โจ ไบเดน" และ “เจบ บุช" ตัวเต็งล็อตสองจากทั้ง 2 พรรคการเมืองที่สื่อจับตา

นอกเหนือไปจากตัวเต็งที่ประกาศตัวอย่างเป็นทางการข้างต้นนี้แล้ว นักการเมืองที่มีชื่อว่า จะลงสนามเพื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ได้แก่ เจบ บุช ซึ่งเป็นบุตรชายของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และน้องชายของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช จอห์น บอลตัน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ และลินด์ซีย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกจากรัฐเซาท์แคโรไลนา รวมทั้ง โจ ไบเดน รองประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นตัวเก็งจากพรรคเดโมแครตที่ถูกจับตาใกล้ชิดว่า จะลงรับสมัครเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนพรรคอีกครั้งหรือไม่

เจบ บุช กับอนาคตทางการเมือง

ตระกูล “บุช" ดูเหมือนว่า จะไม่ค่อยห่างเหินจากเวทีการเมืองสหรัฐเท่าไรนัก เจบ บุช ซึ่งเป็นบุตรชายของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และน้องชายของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช ประกาศว่า ตนเองสนใจที่จะชิงตำแหน่งผู้แทนพรรครีพับลิกันเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะลงรับสมัครเป็นตัวแทนพรรคหรือไม่ ก่อนหน้านี้ จอห์น เอลลิส “เจบ" บุช เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐฟลอริด้า สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส และแต่งงานกับการ์นิกา กัลโล ชาวเม็กซิกัน มีบุตรด้วยกัน 3 คน

ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเป็นเวลา 8 ปีนั้น บุชได้ยกเครื่องระบบการศึกษาในรัฐ รวมทั้งผลักดันให้มีการปรับลดการจัดเก็บภาษีครั้งใหญ่ แต่เรื่องฉาวของบุชผู้น้องก็มีระแคะระคายออกมาเช่นกัน เมื่อปี 2554 ที่มีข่าวลือเรื่องความสัมพันธ์กับนักการเมืองรายหนึ่ง

ภายหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรัฐในปี 2550 บุชได้รับตำแหน่งผู้บริหารในบอร์ดของเอกชนหลายแห่ง อาทิ อินโนไวดา และเลห์แมน บราเธอร์ส เจบ บุช เป็นนักการเมืองที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากบุชผู้พี่ที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม บุชผู้น้องมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของสหรัฐด้วยการเสนอมาตรฐานใหม่ๆที่ถูกวิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษ์นิยม ขณะที่มุมมองของบุชที่มีต่อนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองนั้นดูเหมือนว่า จะเป็นมุมมองที่อยู่ในระดับกลางๆมากกว่าสมาชิกรีพับลิกันที่อยู่ในสภาคองเกรส

โจ ไบเดน นักการเมืองผู้มีประสบการณ์โชกโชน

ไบเดน เคยพูดถึงอนาคตของตนเองเรื่องลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐว่า ตนเองจะยังไม่ตัดสินใจจนกว่าถึงช่วงสิ้นสุดฤดูร้อน (เดือนมิ.ย.-ก.ย.) จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแคมเปญ ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนก็ไม่ได้ข่าวจากไบเดนเช่นกันว่า เขาจะลงชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคหรือไม่

การที่ไบเดน ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะลงศึกเลือกตั้งหรือไม่ ทำให้ฮิลลารีมีคะแนนนำ โดยโพลล์ล่าสุดของซีเอ็นเอ็นและโออาร์ซีชี้ว่า ฮิลลารีมีคะแนนนำถึง 69% ในหมู่สมาชิกเดโมแครต เมื่อเทียบกับไบเดนที่ได้คะแนนไป 11% นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่ไบเดนยังไม่ตัดสินใจในขณะนี้ จึงถือเป็นเรื่องเสี่ยงเล็กน้อย เพราะคู่แข่งต่างประกาศและเดินหน้าหาเสียงกันไปแล้ว

ศึกยกต่อไปในเส้นทางสู่ผู้นำสหรัฐ

เมื่อสมาชิกพรรคประกาศตัวกันไปแล้วเป็นบางส่วน เมื่อใดที่ได้มีการประกาศตัวจนครบ ขั้นตอนต่อไป ก็คือ พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะต้องสรรหาตัวแทนภายในพรรค ด้วยการเลือกตั้งขั้นต้น ซึ่งเป็นการหยั่งเสียงในระดับมลรัฐ รวมทั้งการประชุมใหญ่ของพรรคในระดับประเทศ ผู้ชนะจะได้เป็นตัวแทนพรรคในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ศึกยกต่อไป คือ การเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นการดวลฝีมือกันระหว่างผู้แทนพรรคแต่ละพรรค ซึ่งจะมีการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งในการเลือกตั้งขั้นสุดท้าย ผู้ที่ชนะจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ใครจะประกาศลงชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคอีก ตัวเต็งที่สื่อนำเสนอและคาดการณ์จะลงสนามหรือไม่ เชื่อแน่ว่า ศึกเลือกตั้งคราวนี้น่าจะช่วยสะท้อนภาพการเมืองที่น่าสนใจในอีกยุคหนึ่งของสหรัฐอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ