การเสนอขายหุ้นกู้ต่างประเทศต่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday January 24, 2006 18:18 —ประกาศ ก.ล.ต.

                      ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กจ. 2/2549
เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้ต่างประเทศต่อธนาคารพาณิชย์
ในประเทศไทย
_________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 มาตรา 34(1) มาตรา 35 มาตรา 40(11) มาตรา 41(3) และ (4) มาตรา 56 มาตรา 64(2) และ (3) มาตรา 67 มาตรา 69(11) และมาตรา 70(9) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 45 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้
(1) คำว่า “แบบแสดงรายการข้อมูล” และ “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ให้มีความหมาย
เช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์
(2) “บริษัทต่างประเทศ” หมายความว่า บริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
(3) “ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการ
ธนาคารพาณิชย์
(4) “ข้อกำหนดสิทธิ” หมายความว่า ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออก หุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้
(5) “ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร” หมายความว่า ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร ตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
(6) “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศต่อนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร โดยคำนึงถึงการกำกับดูแลการทำธุรกรรมและการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ในหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดคุณลักษณะของผู้ออกหุ้นกู้ ลักษณะของหุ้นกู้ที่เสนอขาย หรือข้อกำหนดอื่นที่จำเป็น เพิ่มเติมจากข้อกำหนดในประกาศนี้ได้
ข้อ 4 ให้บริษัทต่างประเทศที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ตามประกาศนี้ ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานตามแบบพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่สำนักงานประกาศกำหนด และชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตในอัตราคำขอละ 10,000 บาท
ในกรณีเป็นการขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้มีประกัน ให้บริษัทต่างประเทศยื่นคำขอความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต่อสำนักงานมาพร้อมกับคำขออนุญาตด้วย ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 5 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่อาจมีการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยส่งมอบเป็นหุ้น ให้นำหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตรวจสอบหุ้นอ้างอิง และการไม่เป็นบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่มาใช้บังคับ โดยอนุโลมในการขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้ที่อาจมีการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยส่งมอบเป็นหุ้น ให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการขอตรวจสอบหุ้นที่จะนำมาใช้เป็นปัจจัยอ้างอิงในแต่ละครั้งในวันที่ยื่นคำขอตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงในอัตราคำขอละ 10,000 บาท
ข้อ 6 ในการพิจารณาคำขออนุญาต ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอมาชี้แจง ส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขออนุญาตไม่มาชี้แจง หรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอไม่ประสงค์จะขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่นั้นอีกต่อไป
ข้อ 7 ในการพิจารณาว่าคำขออนุญาตใดมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้หรือไม่ ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตหรือการเสนอขายหุ้นกู้มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่า ความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายหุ้นกู้นั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ตามคำขออนุญาตได้ ทั้งนี้ สำนักงานต้องแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน
(2) ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นกู้ที่ได้รับอนุญาตได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยก็ได้
(ก) ประโยชน์ที่จะได้จากการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนของผู้ขออนุญาตในการปฏิบัติ และมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น
(ข) ผู้ขออนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็น
ไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน
(ค) ผู้ขออนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติ
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน
ข้อ 8 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขอภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่สำนักงาน
ได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน
หมวด 1
การขออนุญาตและการอนุญาต
ข้อ 9 บริษัทต่างประเทศที่จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ตามประกาศนี้ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ไม่อยู่ระหว่างค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน
และผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสำนักงานตามมาตรา 56 หรือไม่อยู่ระหว่างการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่อยู่ระหว่างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรายงานต่อสำนักงานตามมาตรา 57 หรือไม่อยู่ระหว่างการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานตามมาตรา 58 ทั้งนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
(2) ได้จดข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ที่จะเสนอขาย ซึ่งแสดงว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะไม่รับจดทะเบียนการโอนหุ้นกู้ไม่ว่าในทอดใด ๆ หากการโอนหุ้นกู้ดังกล่าวจะทำให้ผู้ถือหุ้นกู้เป็นบุคคลอื่นนอกจากธนาคารพาณิชย์หรือผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร
(3) ไม่เคยเสนอขายหุ้นกู้โดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามประกาศนี้ อย่างมีนัยสำคัญ
ข้อ 10 ในการเสนอขายหุ้นกู้ที่ได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ บริษัทต่างประเทศต้อง
จัดให้หุ้นกู้ที่เสนอขายมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) มีคำเรียกชื่อเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงหุ้นกู้ที่เสนอขาย ทั้งนี้
คำเรียกชื่อหุ้นกู้ดังกล่าวต้องแสดงถึงปีที่ครบกำหนดไถ่ถอน และลักษณะพิเศษของหุ้นกู้ (ถ้ามี)
ไว้โดยชัดเจน
(2) ออกตามข้อกำหนดสิทธิที่มีรายการอย่างน้อยเป็นไปตามมาตรา 42(1) ถึง (9)
(3) จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เว้นแต่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ไม่มีประกัน
(4) มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เป็นไปตามข้อ 11
(5) มีข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ให้อยู่ในกลุ่มของธนาคารพาณิชย์หรือผู้ที่มีถิ่นที่อยู่
นอกราชอาณาจักร
ข้อ 11 หุ้นกู้ที่เสนอขายต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผัน
จากสำนักงาน
(1) อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่เสนอขาย
(2) อันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทต่างประเทศที่ออกหุ้นกู้
(3) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนด
อายุของหุ้นกู้
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้จะต้องมีอยู่จนกว่าสิทธิเรียกร้องตามหุ้นกู้จะระงับลง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ โดยกำหนดเงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ลงทุนในการมีข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น
ข้อกำหนดให้หุ้นกู้ที่เสนอขายต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามข้อนี้ ไม่ให้ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้
(1) การเสนอขายต่อธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีมูลค่ารวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท ทั้งนี้ ในการคำนวณมูลค่าที่เสนอขายให้ใช้ราคาที่ตราไว้เป็นเกณฑ์
(2) การเสนอขายต่อธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะเจาะจงซึ่งมีจำนวนไม่เกินสิบราย
ข้อ 12 หุ้นกู้ที่เสนอขายตามประกาศนี้ต้องเป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ
ในกรณีที่มีบุคคลใดแสดงความประสงค์ต่อบริษัทต่างประเทศที่จะลงทะเบียนการโอนหุ้นกู้ ให้บริษัทต่างประเทศตรวจสอบความถูกต้องของการโอนหุ้นกู้ หากพบว่าเป็นการโอนที่ขัดต่อข้อจำกัดการโอนที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน บริษัทต่างประเทศต้องไม่ลงทะเบียนการโอนหุ้นกู้
ในกรณีที่บริษัทต่างประเทศจัดให้มีนายทะเบียนหุ้นกู้ ต้องดำเนินการให้นายทะเบียนหุ้นกู้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคสองด้วย
ข้อ 13 ให้บริษัทต่างประเทศเสนอขายหุ้นกู้ให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการอนุญาต
ข้อ 14 ในกรณีที่มีการออกใบหุ้นกู้ ให้บริษัทต่างประเทศส่งมอบใบหุ้นกู้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้โดยปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 88
ข้อ 15 ในกรณีที่สำนักงานพบว่าภายหลังการอนุญาตมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้บริษัทต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตตามประกาศนี้มีลักษณะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะได้รับอนุญาต และบริษัทไม่สามารถแก้ไขลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้สำนักงานมีหนังสือแจ้งให้บริษัทระงับการเสนอขายหุ้นกู้ที่ได้รับอนุญาตต่อไป และให้ถือว่าการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ในส่วนที่ยังมิได้เสนอขายหรือยังไม่มีผู้จองซื้อเป็นอันสิ้นสุดลงการแจ้งระงับการเสนอขายหุ้นกู้ตามวรรคหนึ่งไม่กระทบต่อการบังคับตามกฎหมายระหว่างคู่สัญญาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้ที่ได้ออกไปก่อนหรือหลังวันที่การระงับการเสนอขายหุ้นกู้มีผลบังคับ
หมวด 2
การเปิดเผยข้อมูลก่อนและภายหลังการเสนอขายหุ้นกู้
ข้อ 16 ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้ในแต่ละครั้งในประเทศไทย ให้ผู้เสนอขายหุ้นกู้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานจำนวนห้าชุด เว้นแต่จะเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) การเสนอขายต่อธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีมูลค่ารวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท ทั้งนี้ ในการคำนวณมูลค่าที่เสนอขายให้ใช้ราคาที่ตราไว้เป็นเกณฑ์
(2) การเสนอขายต่อธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะเจาะจงซึ่งมีจำนวนไม่เกินสิบราย
ข้อ 17 แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นต่อสำนักงานอาจเลือก
จัดทำเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ โดยให้มีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) มีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 69(1)ถึง(10) และมาตรา 70(1)ถึง (8)
(2) มีข้อมูลที่แสดงถึงฐานะการเงินของผู้ออกหุ้นกู้ โดยอย่างน้อยต้องแนบงบการเงินซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี หรือ International Financial Reporting Standards (IFRS) หรือ Financial Accounting Standards (FAS) หรือ United States Generally Accepted Accounting Principles (US GAAP) หรือมาตรฐานการบัญชีอื่นที่สำนักงานยอมรับ
(3) มีข้อมูลถูกต้องและเพียงพอที่จะทำให้ผู้ลงทุนทราบลักษณะและเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่เสนอขาย แหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาชำระคืนหนี้ตามหุ้นกู้ โอกาสและความเสี่ยงของผู้ถือหุ้นกู้ในการได้รับชำระคืนหนี้ และผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ ผู้ออกหุ้นกู้ หรือผู้ค้ำประกันการชำระหนี้เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
(4) มีข้อมูลเกี่ยวกับชื่อและสถานที่ทำการของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้ออกหุ้นกู้ให้เป็นตัวแทนของผู้ออกหุ้นกู้ในประเทศไทยในการรับหนังสือ คำสั่ง หมายเรียก หรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหุ้นกู้ในประเทศไทย
(5) มีลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงนามผูกพันผู้ออกหุ้นกู้ เพื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน
ข้อ 18 นอกจากการยื่นข้อมูลในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์แล้ว ให้ผู้เสนอขายหุ้นกู้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน พร้อมทั้งคำแปลภาษาไทย (ถ้ามี) ต่อสำนักงานในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการรับส่งข้อมูลตามแนวทางที่สำนักงานกำหนดด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงานทั้งในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์และรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีข้อความถูกต้องตรงกัน
ข้อ 19 ภายใต้บังคับมาตรา 68 และมาตรา 75 เมื่อผู้เสนอขายหุ้นกู้ได้ยื่นแบบแสดง
รายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน และได้ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการ
ข้อมูลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนดแล้ว ให้แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นตามข้อ 16 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นสามวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน
ข้อ 20 ให้ผู้เสนอขายหุ้นกู้รายงานผลการขายหุ้นกู้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ โดยอาจเลือกจัดทำเป็นภาษาอังกฤษก็ได้
(1) กรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและ
ร่างหนังสือชี้ชวนตามข้อ 16(1) หรือ (2) ให้ผู้เสนอขายหุ้นกู้รายงานผลการขายหุ้นกู้ต่อสำนักงาน
ภายในสิบห้าวันนับแต่วันปิดการเสนอขาย โดยให้แสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้
(ก) วันที่เสนอขายหุ้นกู้
(ข) ประเภท ลักษณะ และชื่อเฉพาะของหุ้นกู้ (ถ้ามี)
(ค) จำนวนหุ้นกู้ที่เสนอขายทั้งหมด และจำนวนหุ้นกู้ที่ขายได้ทั้งหมด
(ง) ราคาของหุ้นกู้ที่เสนอขาย
(จ) ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อหุ้นกู้ และจำนวนที่ผู้ซื้อหุ้นกู้แต่ละรายได้รับจัดสรรชื่อ สถานที่ติดต่อ และหมายเลขโทรศัพท์ ของผู้รายงานผลการขาย
(2) ในกรณีอื่นนอกจาก (1) ให้ผู้เสนอขายหุ้นกู้ปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรายงานผลการขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน โดยอนุโลม
ข้อ 21 นับแต่วันที่แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนของผู้เสนอขายหุ้นกู้ที่ได้ยื่นต่อสำนักงานตามหมวดนี้มีผลใช้บังคับ ให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้มีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ออกตามความในมาตรา 56
ข้อ 22 ให้การเสนอขายหุ้นกู้ในทอดต่อ ๆ ไป ซึ่งไม่ขัดกับข้อจำกัดการโอนที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงาน ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน
ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2549
(นายทนง พิทยะ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ โดยที่ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์สามารถทำธุรกรรมหรือลงทุนในหลักทรัพย์บางประเภทซึ่งออกโดยบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศได้ ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในขณะที่ประกาศว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดบางประการที่มีผลให้บริษัทต่างประเทศอาจไม่สามารถออกและเสนอขาย หลักทรัพย์ในประเทศไทยได้ เพื่อให้หลักเกณฑ์ในด้านการทำธุรกรรมหรือลงทุนของธนาคารพาณิชย์
ในหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศทั้งในด้านการกำกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วย
การธนาคารพาณิชย์ และหลักเกณฑ์ในด้านการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ของบริษัทต่างประเทศต่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นการสมควรให้มีการออกข้อกำหนดไว้ตามประกาศฉบับนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ