พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 10 กันยายน 2557 - 16 กันยายน 2557

ข่าวทั่วไป Thursday September 11, 2014 08:43 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 10 กันยายน 2557 - 16 กันยายน 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 10-11 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 12-16 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในระยะนี้สภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ผู้ที่ปลูกพืชผักและไม้ดอก ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบจุด โรคราสนิม และโรครากเน่า เป็นต้น
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับชื้น พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้น อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 10-11 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 12-16 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในระยะนี้สภาพอากาศมีความชื้นและอุณหภูมิเหมาะแก่การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นข้าวเสียหายได้ ชาวนาควรหมั่นสำรวจแปลงข้าวหากพบควรกำจัดก่อนที่จะระบาดเป็นบริเวณกว้าง
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคคอบวม และปาก-เท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 10-11 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 12-16 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงวันที่ 12 – 16 ก.ย.มีฝนตกหนัก บริเวณเพาะปลูกที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรยกร่องแปลงปลูกพืชให้สูง รวมทั้งจัดระบบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณลุ่มน้ำต่างๆ ควรเตรียมความพร้อมและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำเหนือที่จะไหลหลากลงมาในระยะนี้ ส่วนสัตว์น้ำที่โตเต็มที่ควรรีบจับขายเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 10-11 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตรส่วนในช่วงวันที่ 12-16 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียสลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • ในระยะนี้ยังคงมีฝนต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักเกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตร
  • สำหรับสวนผลไม้ที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะ ทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้
  • สำหรับชาวสวนไม้ผล และสวนยางพารา ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรครากเน่าโคนเน่า ในไม้ผล และโรคหน้ากรีดยาง ในยางพารา เป็นต้น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

  • ในระยะนี้ภาคใต้ ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรติดตามเฝ้าระวังสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยมีน้ำท่วมมาก่อน โดยขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำ อย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก
  • ส่วนฝั่งตะวันออก ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีต่อพืชผลทางการเกษตร ช่วยลดการระบาดศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ

-สำหรับชาวสวนที่ปลูกยางพารา กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากขาวในยางพารา โรคราสนิมในกาแฟ และโรคทลายปาล์มเน่าในปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส

  • ในระยะนี้ภาคใต้ ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรติดตามเฝ้าระวังสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยมีน้ำท่วมมาก่อน โดยขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำ อย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก

-สำหรับชาวสวนที่ปลูกยางพารา กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากขาวในยางพารา โรคราสนิมในกาแฟ และโรคทลายปาล์มเน่าในปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลง

-ในระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 - 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมง ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ตลอดช่วง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ