พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 21 พฤศจิกายน 2557 - 27 พฤศจิกายน 2557

ข่าวทั่วไป Friday November 21, 2014 16:36 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 21 พฤศจิกายน 2557 - 27 พฤศจิกายน 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 21-23 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 17-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-13 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 24-27 พ.ย. มีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศา อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอัคคีภัยโดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก อาคารบ้านเรือน และโรงเรือนเก็บพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจุดไฟในพื้นที่การเกษตร หากมีความจำเป็นควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

-ในช่วงที่อุณหภูมิลดลงผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กอาจอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

  • สำหรับชาวสวนผลไม้ เช่น ลิ้นจี่ ลำไย และมะม่วง เป็นต้น ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ตาดอกเหี่ยวแห้ง ส่งผลต่อการผลิดอกออกผลของพืช และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคพืชได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศา โดยมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ตลอดสัปดาห์ บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • เนื่องจากระยะนี้ท้องฟ้าโปร่ง และมีแดดจัด เกษตรกรที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันผิวหนังถูกแดดเผาและร่างกายขาดน้ำ
  • ระยะนี้อากาศแห้งเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้พืชเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ ดังนั้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าว ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น
  • เนื่องจากช่วงนี้ความชื้นในดินยังคงมีอยู่ เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ยังคงทำได้ แต่ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโต เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย หากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลง หากขาดน้ำจะทำให้สูญเสียผลผลิตอย่างสิ้นเชิง

ภาคกลาง

อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศา โดยมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ตลอดสัปดาห์ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะสัตว์เลี้ยงอาจปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยและสารคัดหลั่งจากสัตว์โดยตรงหากมีความจำเป็นต้องสัมผัสควรสวมถุงมือยางและสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดทุกครั้ง
  • สำหรับระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้งปริมาณฝนมีน้อยแต่การระเหยของน้ำจะมีมาก พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆครั้ง และควรเลือกให้น้ำพืชในตอนเย็น เพื่อลดการสูญเสียน้ำเนื่องจากการระเหย

ภาคตะวันออก

อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศา โดยมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ตลอดสัปดาห์ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • สำหรับทางตอนบนของภาคซึ่งสภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง
  • ส่วนทางตอนล่างของภาคฝนจะลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งหนอนจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตเสียหาย และด้อยคุณภาพ
  • เนื่องจากปริมาณและการกระจายของฝนลดลง เกษตรกรที่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเองควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

-ในช่วงมี่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยเตรียมอพยพสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ และพันธุ์พืชไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง หากเกษตรกรต้องอพยพไปด้วยควรเตรียมอาหารและน้ำดื่มเอาไว้ให้พร้อม

-สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรป้องกันน้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

-ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ความชื้นในดินและในอากาศสูงผู้ที่ปลูกพืชสวนควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าและโรคราสีชมพู ในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางและโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า ในยางพารา และโรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายและตายได้ โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อลดความชื้นภายในสวน รวมทั้งเก็บกวาดใบและกิ่งที่เป็นโรคไปกำจัด โดยเผาหรือฝังให้ลึก

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

-ในช่วงมี่มีฝนตกหนักติดต่อกัน เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยเตรียมอพยพสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ และพันธุ์พืชไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง หากเกษตรกรต้องอพยพไปด้วยควรเตรียมอาหารและน้ำดื่มเอาไว้ให้พร้อม

-สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรป้องกันน้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

-ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ความชื้นในดินและในอากาศสูงผู้ที่ปลูกพืชสวนควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าและโรคราสีชมพู ในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางและโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า ในยางพารา และโรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายและตายได้ โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อลดความชื้นภายในสวน รวมทั้งเก็บกวาดใบและกิ่งที่เป็นโรคไปกำจัด โดยเผาหรือฝังให้ลึก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ