พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 24 เมษายน 2558 - 30 เมษายน 2558

ข่าวทั่วไป Friday April 24, 2015 14:37 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 24 เมษายน 2558 - 30 เมษายน 2558

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 24-25 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • สำหรับ เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเปียกฝนในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บเพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย
  • สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรมีน้ำสำรองให้พืชในระยะต้นอ่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำของพืช ทำให้ผลผลิตลดลง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 24-27 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้บางพื้นที่แม้จะมีฝนตก แต่ปริมาณยังไม่มากและการกระจายยังมีน้อย เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชควรรอให้มีฝนตกสม่ำเสมอแล้วค่อยลงมือปลูก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำของพืชในระยะต้นอ่อน
  • สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ
  • ส่วนเกษตรกรที่เตรียมดินสำหรับปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ ควรเตรียมดินให้มีการระบายน้ำที่ดี เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเชื้อราในพืช

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 24-25 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัว ในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงวันที่ 24-25 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูง ขณะลมแรง
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้แข็งแรง และซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนอย่าให้มีน้ำรั่วซึม เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเปียกชื้นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้
  • ส่วนเกษตรกรที่เตรียมดินสำหรับเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ ควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ต้นพืชเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราได้

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 24-25 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 เม.ย. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • ในช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรตรวจสอบ วัสดุที่ผูกยึดกิ่ง และอุปกรณ์ที่ค้ำยันลำต้น ของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล และผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งประสบกับฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในระยะที่ผ่านมาจนผลร่วงหล่น เกษตรกรควรรวบรวมกิ่งและใบตลอดจนผลที่ร่วงหล่นไปกำจัดไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ในบริเวณสวน เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช
  • ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วหากเปียกฝน เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ หรือขนส่งเพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 24-25 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส

  • ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลควรหมั่นสำรวจหากพบศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด
  • สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกเป็นรอบที่สอง เกษตรกรที่ต้องการให้ปุ๋ยแก่พืชในระยะนี้ หากพืชฟื้นตัวได้แล้วก็สามารถลงมือได้
  • เนื่องจากระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปริมาณน้ำระเหยมีมากกว่าปริมาณฝนที่ตก ทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลควรหมั่นสำรวจหากพบศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด
  • สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกเป็นรอบที่สอง เกษตรกรที่ต้องการให้ปุ๋ยแก่พืชในระยะนี้ หากพืชฟื้นตัวได้แล้วก็สามารถลงมือได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ