พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 03 กุมภาพันธ์ 2559 - 09 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวทั่วไป Wednesday February 3, 2016 14:43 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 03 กุมภาพันธ์ 2559 - 09 กุมภาพันธ์ 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 4-6 ก.พ. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อยกับมีหมอกในตอนเช้า ทางตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-9 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-16 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 2-8 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าการคายระเหยน้ำของพืช โดยค่าสมดุลน้ำส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง (-10) ถึง (-20) มม. ประกอบกับในช่วง 7 วันข้างหน้า จะไม่มีฝน ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในดินลดลง เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม และใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นเพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำจากต้นพืช และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 4-5 ก.พ. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า ทางตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 13-16 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส อากาศหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 10-16 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภู อากาศหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-8 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม.

ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าการคายระเหยน้ำของพืช โดยค่าสมดุลน้ำส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง (-10) ถึง (-30) มม. ประกอบกับในช่วง 7 วันข้างหน้าจะไม่มีฝน ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในดินลดลง เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติม โดยเฉพาะพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตและให้ผลผลิต เพื่อป้องกันพืชชะงักการเจริญเติบโตและผลผลิตด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 4-5 ก.พ. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าการคายระเหยน้ำของพืช โดยค่าสมดุลน้ำส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง (-20) ถึง (-30) มม. ประกอบกับในช่วง 7 วันข้างหน้า จะไม่มีฝน ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในดินลดลง เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม และใช้น้ำอย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 4-5 ก.พ. มีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าการคายระเหยน้ำของพืช โดยค่าสมดุลน้ำส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง (-10) ถึง (-30) มม. ในช่วง 7 วันข้างหน้า จะมีฝนตกแต่มีปริมาณฝนน้อย เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม และใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ โดยเฉพาะเพลี้ยไฟในทุเรียนและมังคุด ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ผลผลิตลดลงและเสียหาย ส่วนบริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ปริมาณฝนที่ตกมากกว่าค่าการคายระเหยน้ำของพืช โดยค่าสมดุลน้ำอยู่ระหว่าง (1) ถึง (10) มม. แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก และติดผลอ่อน ชาวสวนควรให้น้ำเพิ่มเติมหากขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วงหล่น การติดผลลดลง ผลผลิตเสียหาย รวมทั้งกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นเพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำจากต้นพืช

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 4-5 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. จังหวัดชุมพรขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และฝนหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาคลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าการคายระเหยน้ำของพืช โดยค่าสมดุลน้ำส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง (-1) ถึง (-30) มม. ส่วนบริเวณจังหวัดสงขลา นราธิวาส ยะลา และปัตตานีมีฝนตกทำให้บางพื้นที่ มีปริมาณฝนที่ตกมีค่ามากกว่าค่าการคายระเหยน้ำของพืช โดยมีค่าสมดุลน้ำอยู่ในช่วง 1 - 70 มม. สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค ฝนที่ตกจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชเกษตรกรควรกักเก็บน้ำ และวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อยด้วย ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่มเกษตรกรควรดูแลระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณแปลงปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตรชาวเรือ ขอให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควร งดออกจากฝั่งไว้ด้วย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 4-6 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-9 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาสมดุลน้ำมีค่าอยู่ระหว่าง (-1) ถึง (-30) มม.เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นบริเวณจังหวัดภูเก็ตและพังงา ที่มีค่าสมดุลน้ำอยู่ระหว่าง 1 ถึง 20 มม. ส่วนในช่วง 7 วันข้างหน้า จะมีฝนเป็นแห่งๆ ถึงกระจายปริมาณฝนที่ตกมีน้อย เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต หากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นเพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำจากต้นพืช และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน

หมายเหตุ สมดุลน้ำ คือ ปริมาณฝน – ปริมาณการคายระเหยน้ำของพืช, การคายระเหยน้ำ คือ น้ำระเหย + การคายน้ำของพืช แผนที่สมดุลน้ำสามารถดาวน์โหลดได้ตามลิงค์ http://www.arcims.tmd.go.th/DailyDATA/PET7day.php

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ