พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 30 กันยายน 2559 - 06 ตุลาคม 2559

ข่าวทั่วไป Friday September 30, 2016 14:53 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 30 กันยายน 2559 - 06 ตุลาคม 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 4–6 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ข้าวนาปี ฝนตกต่อเนื่อง อากาศชื้นสูง : โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ โรคใบจุดสีน้ำตาล และศัตรูพืช เช่น หอยเชอรี่
  • พืชผัก ฝนตกต่อเนื่อง: ควรระวังป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้าง โรคใบจุดและโรคราสนิม ในกวางตุ้ง กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว เป็นต้น
  • สัตว์น้ำ ฝนตกหนัก : เกษตรกรควรหมั่นสังเกตสัตว์น้ำที่เลี้ยงอยู่โดยเฉพาะในวันที่มีฝนตกหนัก และควรลดปริมาณอาหารที่ให้เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณสัตว์ที่เลี้ยง รวมทั้งเปิดเครื่องตีน้ำช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 3–6 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ข้าว สภาพอากาศชื้น : ควรระวังป้องกันการระบาดของโรคไหม้ และหนอนกระทู้คอรวง
  • สัตว์เลี้ยง ฝนตกต่อเนื่อง อากาศชื้น : ควรดูแลโรงเรือนและพื้นคอกให้สะอาดและแห้ง หลังคาไม่ให้รั่วซึม เพื่อป้องกันสัตว์เจ็บป่วย รวมทั้งควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น โรคคอบวม โรคปากและเท้าเปื่อย ตรงตามกำหนดเวลา
  • สัตว์น้ำ (ในบ่อ) ฝนตกหนัก : เสริมขอบบ่อไม่ให้น้ำฝนไหลลงบ่อ ทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์อ่อนแอเป็นโรค และเปิดเครื่องตีน้ำหลังฝนตก เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำ เพิ่มออกซิเจน

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 4–6 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • พืชไร่ ฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนัก : เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก ส่วนผลผลิตที่แก่ดีแล้ว ควรรีบเก็บเกี่ยว ก่อนได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่นหนอนเจาะฝักใน ข้าวโพด และถั่วเหลือง
  • สัตว์เลี้ยง ฝนตกต่อเนื่อง อากาศชื้น : อาจทำให้สัตว์มีสุขภาพอ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย เกษตกรไม่ควรให้สัตว์กินหญ้าอ่อนมากเกินไปเพราะจะทำให้ท้องอืดได้ และเตรียมอาหารให้กินอย่างพอเพียง รวมทั้งจัดเตรียมพื้นที่ในการอพยพสัตว์เลี้ยง เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม
  • ปลาในกระชัง ฝนตกต่อเนื่อง : ตะกอนแขวนลอยและระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน กินอาหารลดลง เครียด อ่อนแอ และน๊อกตายได้ เกษตรกรควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง หากปลาโตได้ขนาดควรรีบจับขาย เพื่อลดความเสี่ยง

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล ฝนตกต่อเนื่อง อากาศชื้น : ชาวสวนไม้ผลควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่า และศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่นหนอนเจาะลำต้น และหนอนชอนใบ เป็นต้น
  • ยางพารา ฝนตกต่อเนื่อง : โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเส้นดำ และโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า เป็นต้น
  • สัตว์น้ำ(ในบ่อ)ฝนตกหนัก : เสริมขอบบ่อไม่ให้น้ำฝนไหลลงบ่อ ทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์อ่อนแอเป็นโรค และเปิดเครื่องตีน้ำหลังฝนตก เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำ และเพิ่มออกซิเจน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 4–6 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล ฝนตกต่อเนื่อง อากาศมีความชื้นสูง:เกษตรกรระวังโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา เช่นโรครากเน่าโคนเน่า และระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกินใบ และหนอนชอนใบ
  • ยางพารา ฝนตกต่อเนื่อง อากาศมีความชื้นสูง : ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรค ใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคเส้นดำ และโรคราสีชมพู เป็นต้น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนัก ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล ฝนตกต่อเนื่อง อากาศมีความชื้นสูง : เกษตรกรระวังโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา เช่นโรครากเน่าโคนเน่า และระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกินใบ และหนอนชอนใบ
  • ยางพารา ฝนตกต่อเนื่อง อากาศมีความชื้นสูง : ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรค ใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคเส้นดำ และโรคราสีชมพู เป็นต้น
  • ประมงชายฝั่ง คลื่นลมมีกำลังแรง: ระยะนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งบริเวณทะเลอันดามันควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ปริมาณฝนสะสมเดือนกันยายน (วันที่ 1-29 ก.ย.) ที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมอยู่ระหว่าง 100-300 มม. เว้นแต่พื้นที่ของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มีฝนสะสมเกิน 300 มม. สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีปริมาณฝนสะสม ต่ำกว่า 50 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณภาคเหนือตอนบนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีปริมาณฝนสะสมอยู่ระหว่าง10-40 มม.ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันออกปริมาณฝนสะสมอยู่ระหว่าง 40-100มม.เว้นแต่บางพื้นที่ของภาคกลางภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนสะสมเกิน 100 มม. ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีฝนสะสมน้อยกว่า 200 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำ ระยะที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมอยู่ระหว่าง 20-30 มม. เว้นแต่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมอยู่ระหว่าง 30-35 มม.

สมดุลน้ำ ระยะที่ผ่านมาค่าสมดุลย์น้ำส่วนใหญ่เป็นบวก โดยมีค่าสมดุลย์น้ำที่เป็นบวกมากบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีค่าสมดุลย์น้ำเกิน100 มม. เว้นแต่บางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง มีค่าสมดุลย์น้ำเป็นลบอยู่ระหว่าง (-1)-(-30)มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ทำให้ในหลายพื้นที่มีค่าสมคุลย์น้ำเป็นบวกและในช่วง7วันข้างหน้าจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลดีต่อพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต สำหรับพื้นที่การเกษตรในที่ลุ่ม เกษตรกรควรดูและระบบระบายน้ำในแปลงปลูกผักให้มีประสิทธิภาพป้องกันน้ำท่วมขังเวลาฝนตกหนัก เนื่องจากฝนที่ตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตกรควรระวังและป้องกันระบาดของโรคพื่ชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผลและพืชผักเอาไว้ด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ