พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 02 ธันวาคม 2559 - 08 ธันวาคม 2559

ข่าวทั่วไป Friday December 2, 2016 15:31 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 02 ธันวาคม 2559 - 08 ธันวาคม 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 3-6 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกบางและหมอกหนาบางพื้นที่ ในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาคในช่วงวันที่ 5-6 ธ.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส ตอนบนของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-30 องศาเซลเซียส ตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 4-10 องศาเซลเซียส

  • ผลผลิตทางการเกษตร อากาศเย็นกับมีหมอกและน้ำค้างในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคราน้ำค้างในพืชผัก และองุ่น ราแป้งขาวในกุหลาบ และโรคฝักเน่าในมะขามหวาน นอกจากนี้ ไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้ และในช่วงวันที่ 5-6 ธ.ค. จะมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงตากผลผลิตในช่วงเวลาดังกล่าว
  • สัตว์เลี้ยง สำหรับอากาศเย็นและชื้น ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรหมั่นสังเกตการเจ็บป่วยของสัตว์ โดยเฉพาะโรคคอบวมในโค-กระบือ และโรคหวัดในสัตว์ปีก หากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม และทำการรักษา
  • สัตว์น้ำ ช่วงที่อากาศหนาวเย็นจะทำให้อุณหภูมิน้ำลดลงอย่างรวดเร็วอาจทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน น๊อกน้ำตายได้ เกษตรกรควรควบคุมอุณหภูมิน้ำโดยเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อปรับอุณหภูมิน้ำไม่ให้เปลี่ยงแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มออกซิเจน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 3-6 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางและหมอกหนาบางพื้นที่ ในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 ธ.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.

  • สัตว์เลี้ยง ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง และมีลมแรง เกษตรกรควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งทำแผงกันบังลมหนาว เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน ทำให้สัตว์หนาวเย็น
  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะนี้ปริมาณน้ำระเหยมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยน้ำ และรักษาความชื้นภายในดิน

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 2-6 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 ธ.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่าง ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ต้นพืชทรุดโทรมผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • สัตว์เลี้ยง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน ไม่ควรปล่อยให้ลมหนาวโกรกภายในโรงเรือน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงหนาวเย็น จนอ่อนแอและป่วยเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 2-6 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-8 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • ไม้ผล เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง ไม้ผลที่อยู่ในระยะพักตัวเพื่อเตรียมแทงช่อดอก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนที่อ่อน ทำให้ต้นทรุดโทรม ส่งผลให้การแตกตาดอกของพืชลดลง
  • ผลผลิตทางการเกษตร สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และวางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 2-4 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมากตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 5 -8 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-32 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การ เกษตร ช่วงวันที่ 2-4 ธ.ค. ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัด ชุมพรลงไป จะมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวัง ผลกระทบจากฝนตกหนักและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพื้นที่การเกษตร โดยจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณแปลงปลูก เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศและยืนต้นตายได้
  • สัตว์เลี้ยง ฝนตกต่อเนื่องกับมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรป้องกันการเจ็บป่วยของสัตว์ โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ รวมทั้งควรหมั่นสังเกต หากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม และรีบรักษา
  • ประมงชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 2 – 5 ธ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สำหรับชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 2-4 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การ เกษตร ช่วงวันที่ 2-4 ธ.ค. ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัด ชุมพรลงไป จะมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวัง ผลกระทบจากฝนตกหนักและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพื้นที่การเกษตร โดยจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณแปลงปลูก เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศและยืนต้นตายได้
  • สัตว์เลี้ยง ฝนตกต่อเนื่องกับมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรป้องกันการเจ็บป่วยของสัตว์ โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ รวมทั้งควรหมั่นสังเกต หากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม และรีบรักษา

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตรในวันที่ 2 - 8 ธันวาคม 2559

ปริมาณฝนสะสมเดือนธันวาคม (1-29) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกสะสมมากกว่า20 มม.โดยเฉพาะทางตะวันออกของภาคใต้ตอนล่างมีฝนสะสมระหว่าง 100-300 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่า 20 มม.เป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณภาคใต้มีตอนบนปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่า 20 มม.สำหรับภาคใต้ตอนล่างมีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 20 มม. โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส มีฝนตกมากกว่า 100-300 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-30 มม.

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนมีสมดุลน้ำเป็นลบเป็นส่วนใหญ่ โดยมีค่าอยู่ระหว่าง (-1)-(-30) ส่วนบริเวณภาคใต้ตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำเป็นบวกเป็นส่วนมาก โดยมีค่าสมดุลน้ำระหว่าง 100-300 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านประเทศไทยตอนบนมีปริมาณและการกระจายของฝนน้อยและค่าสมดุลน้ำเป็นลบ ยกเว้นทางภาคใต้ตอนล่างโดยเฉพาะทางด้านตะวันออก ที่มีฝนตกสะสมมาก และมีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก ส่วนช่วง 7 วันข้างหน้าประเทศไทยตอนบนไม่มีฝน เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพและควรระวังการป้องกันการระบาดศัตรูพืชจำพวกปากดูดในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งจะกัดกินส่วนอ่อนของพืชทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศและยินต้นตาย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ