พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 28 มิถุนายน 2560 - 04 กรกฎาคม 2560

ข่าวทั่วไป Wednesday June 28, 2017 15:07 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 28 มิถุนายน 2560 - 04 กรกฎาคม 2560

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว โดยเฉพาะ ลิ้นจี่ เกษตรกรควรีบตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วมีเวลาฟักตัวได้นานขึ้น และควรกำจัดเปลือกและผลที่เน่าเสียไม่ควรกองอยู่ในบริเวณสวนเพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช ส่วนลำไยที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลและผลแก่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันสัตว์ศัตรูพืชมากัดกินผลผลิต เช่น ค้างคาว และผีเสื้อมวนหวาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผลผลิต เน่าเสียหาย
  • พื้นที่การเกษตร พื้นที่ซึ่งมีฝนตกในระยะนี้ เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เนื่องจากระยะถัดไปจะเป็นช่วงฝนทิ้งช่วง ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 28 มิ.ย. – 1 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 2 – 4 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สัตว์เลี้ยง ในช่วงที่ปริมาณและการกระจายของฝนลดลง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรสำรวจและซ่อมแซมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มีความมั่นคงแข็งแรง หลังคาอย่าให้มีรอยรั่วซึม เนื่องจากในระยะปลายเดือนหน้าปริมาณและการกระจายของจะฝนเพิ่มขึ้น
  • ข้าวนาปี สำหรับข้าวนาปีที่อยู่ในระยะกล้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของหนอนกระทู้ ซึ่งจะกัดกินต้นกล้าทำให้เสียหาย
  • พืชไร่/พืชผัก เนื่องจากฝนที่ตกและหยุดสลับกันในระยะนี้ สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนใน พืชไร่ และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกิน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 28 - 30 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 4 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากปริมาณและการกระจายของฝนที่ลดลงโดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกรจึงควรให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสม รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่ฝนตกน้อย
  • สัตว์เลี้ยง เกษตรกรควรสำรวจโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้อยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรง หลังคาไม่รั่วซึม แผงกำบังฝนไม่ชำรุด เนื่องจากในระยะต่อไปจากช่วงนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 28 - 30 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 4 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 -30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 - 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่การเกษตร เป็นเวลานาน ทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้
  • ไม้ผล ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่งและขั้วผลแล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อราและใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวได้เร็ว มีเวลาพักตัวได้นาน รวมทั้งไม่ควรกองสุมเปลือกผลไม้ และผลที่เน่าเสียในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 28 - 30 มิ.ย. มีฝน ฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 4 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้แม้ในบางช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะอ่อนกำลังลงแต่เนื่องจากภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นด้านรับลมมรสุมดังกล่าวจึงยังคงมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกบางส่วน เกษตรกรจึงควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • กาแฟ ในช่วงที่มีฝนตก ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกกาแฟควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิม และโรคใบจุด โดยดูแลบริเวณสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เก็บกวาดผลและใบที่ร่วงหล่น ไปกำจัด เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 28 - 30 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 4 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้แม้ในบางช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะอ่อนกำลังลงแต่เนื่องจากภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นด้านรับลมมรสุมดังกล่าวจึงยังคงมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ เกษตรกรจึงควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • กาแฟ ในช่วงที่มีฝนตก ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกกาแฟควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิม และโรคใบจุด โดยดูแลบริเวณสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เก็บกวาดผลและใบที่ร่วงหล่น ไปกำจัด เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช
  • ชาวประมง ในช่วงวันที่ 28 - 30 มิ.ย. บริเวณทะเลอันดามันตอนบนจะมีคลื่นสูง1 - 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ