พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 19 - 25 มกราคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Friday January 19, 2018 13:57 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 19-25 มกราคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 20-22 ม.ค. 61 ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ โดยบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวโดยทั่วไป ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ม.ค. 61 ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวบริเณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 20-21 ม.ค. 61

คำเตือน ในช่วงวันที่ 20-24 ม.ค. 61 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือควรเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย ส่วนเกษตรบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ระมัดระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตเนื่องจากฝนที่ตกไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ทางตอนบนของภาค: อากาศเย็นถึงหนาวตลอดช่วง กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด14-16 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียสส่วนทางตอนล่างของภาค: อากาศเย็นตลอดช่วง กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-22องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศหนาวเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหายได้ รวมทั้งระวังการเกิดอุบัติเหตุเมื่อสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับอากาศเย็นและชื้นในตอนเช้าเหมาะกับการเกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปลูกพืชใกล้ชิดกันมากหรือมีอากาศถ่ายเทน้อย จะทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เมื่อพบการระบาดของโรค เช่น โรคราน้ำค้างและโรคราสนิมในพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น ควรรีบควบคุมก่อนระบาดไปยังต้นอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 20-22 ม.ค. 61 อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ม.ค. 61 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าโดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้กลางคืนมีอากาศเย็นส่วนกลางวันมีอากาศร้อนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับฝนที่ตกในระยะนี้มีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรพิจารณาให้น้ำเพิมเติมตามความเหมาะสม รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรตลอดช่วงแล้ง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 20-22 ม.ค. 61 อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ม.ค. 61 มีเมฆเป็นส่วนมาก โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับอากาศเย็นและชื้น กับมีหมอกในตอนเช้าเหมาะกับการเกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคราน้ำค้างในองุ่นโรคใบไหม้ในพืชตระกูลหอม เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบควรรีบควบคุม
  • ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ทางตอนบนของภาคควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ในช่วงวันที่ 20-23 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหายได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 20-21 ม.ค. 61 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าโดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 ม.ค. 61 มีเมฆเป็นส่วนมาก โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากระยะนี้เป็นระยะแล้ง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ในช่วงแล้ง
  • สำหรับอากาศเย็นและชื้น กับมีหมอกในตอนเช้าเหมาะกับการเกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราดำในมะม่วงและมะยงชิด เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกหากพบควรรีบควบคุมโดยพ่นน้ำล้างคราบราสีดำ เพื่อลดปริมาณเชื้อ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำ ให้ต้นพืชชะงักการ
เจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • ในช่วงวันที่ 20-25 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหายได้

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 20-25 ม.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ โดยในช่วงวันที่ 20-21 ม.ค. 61จะมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 20-25 ม.ค. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อาจทำ ให้เกิดน้ำท่วมขังได้ เกษตรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ
  • สำหรับทางตอนบนของภาคแม้จะมีฝนแต่มีปริมาณน้อยซึ่งไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้พืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าวและหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
  • ส่วนทางตอนกลางและตอนล่างของภาคยังคงมีฝนตกต่อเนื่องทำให้ความชื้นในดินและในอากาศมีสูง เกษตรกรควรดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 19-25 มกราคม 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนมกราคม (ในช่วงวันที่ 1-18 ม.ค.) บริเวณประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกมีปริมาณฝนสะสม 50-150 มม. และภาคใต้ตอนล่างมีปริมาณฝนสะสม 50-300 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยส่วนมากไม่มีฝน เว้นแต่ภาคใต้ตอนล่างที่มีปริมาณฝนสะสม 5-100 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำ สะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำ สะสม 15-25 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ คือ 25-30 มม.สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบโดยมีค่าระหว่าง (-1)-(-30) มม. เว้นแต่บริเวณภาคใต้ตอนล่างที่มีปริมาณสมดุลย์น้ำสะสมเป็นบวก โดยมีค่าระหว่าง 10-70 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็น ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศหนาวย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรงเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมทั้งระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองและกับมีฝนหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ