ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. น้ำตาลบุรีรัมย์” ที่ “BBB-” และหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ที่ “BB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 15, 2017 15:30 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “BB+” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่อยู่ในระดับสูง และกระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทมีโรงงานผลิตน้ำตาลเพียงแห่งเดียว ราคาน้ำตาลที่เป็นวัฏจักร ความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อย และการก่อหนี้ที่อยู่ในระดับสูง

บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทย บริษัทก่อตั้งในปี 2506 โดยครอบครัวตระกูลตั้งตรงเวชกิจและได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 ณ เดือนมีนาคม 2560 ตระกูลตั้งตรงเวชกิจถือหุ้นในสัดส่วน 74.3% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท

บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการโรงงานน้ำตาลเพียงแห่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 24,000 ตันอ้อยต่อวัน ในปีการผลิต 2559/2560 บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 2.21 ล้านตันอ้อยและผลิตน้ำตาลได้ 247,848 ตัน คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 2.5% หากพิจารณาจากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ บริษัทผลิตเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำตาลพื้นฐานเพียง 2 ประเภท คือ น้ำตาลทรายขาวสีรำเพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าภายในประเทศและน้ำตาลทรายดิบเพื่อการส่งออก

ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของบริษัทอยู่ในระดับสูง โดยในปีการผลิต 2557-2559 นั้นบริษัทผลิตน้ำตาลได้ 115-118 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อย บริษัทจึงจัดอยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรกของโรงงานน้ำตาลในประเทศไทยที่มีผลลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยในระดับสูง ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของบริษัทสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 100-109 กก. ต่อตันอ้อย และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงงานน้ำตาลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ที่ระดับ 110-113 กก. ต่อตันอ้อย สำหรับปีการผลิต 2559/2560 นั้น ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของบริษัทลดลงจากปีการผลิต 2558/2559 มาอยู่ที่ 112.01 กก. ต่อตันอ้อย เนื่องจากมีฝนตกชุกมากในช่วงฤดูหีบอ้อย

นอกจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องคือธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยซึ่งทำให้บริษัทมีรายได้ประจำที่แน่นอน บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า 2 แห่ง แต่ละแห่งมีสัญญาขายไฟฟ้าจำนวน 8 เมกะวัตต์ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งได้รับอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ. ในแบบ Feed-in-tariff (FiT) ซึ่งอายุสัญญาจะหมดในปี 2571 และปี 2578 ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทคิดเป็น 15% ของรายได้รวมในปี 2559

ราคาน้ำตาลทรายลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยราคาน้ำตาลอ้างอิงจากราคาขายตามสัญญาที่ บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายนั้นลดลงจาก 21.4 เซนต์ต่อปอนด์ในปีการผลิต 2555/2556 มาอยู่ที่ 15.4 เซนต์ต่อปอนด์ในปีการผลิต 2558/2559 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัทช่วยชดเชยการลดลงของราคาน้ำตาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นตามลำดับจาก 433 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 569 ล้านบาทในปี 2559 เงินทุนจากการดำเนินงานก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 335 ล้านบาท เป็น 387 ล้านบาทในช่วงดังกล่าว กำไรที่ดีขึ้นเป็นผลจากการที่บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น บริษัทสามารถหีบอ้อยได้มากขึ้นเป็น 2.06 ล้านตันอ้อยในปี 2559 จาก 1.7 ล้านตันอ้อยในปี 2556 ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นเกิดจากความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตอ้อยและการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร่ที่ทำสัญญากับบริษัท ในขณะที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางแต่บริษัทสามารถรักษาระดับการทำกำไรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทยังทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 12% ในปี 2557-2558 แม้ว่าราคาน้ำตาลจะปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรลดลงเหลือ 10.3% ในปี 2559 จาก 12% ในปี 2558 เนื่องจากบริษัทมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลงในปี 2559 จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายคงที่จากโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังเดินเครื่องไม่เต็มที่ในปี 2559

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,123 ล้านบาท หรือเติบโต 54% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1,015 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับ 371 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาขายน้ำตาล บริษัทและผู้ผลิตน้ำตาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีการขายน้ำตาลล่วงหน้าในช่วงที่ราคาน้ำตาลอยู่ในระดับสูง

ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับสูง โดยหนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายกำลังการหีบอ้อยและการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวสูงขึ้นจาก 58.8% ในปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 68.2% ในปี 2559 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวลดลงเป็น 64.4% ณ เดือนมิถุนายน 2560 เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนน้อยลง อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงเป็น 2.9 เท่าในปี 2559 เปรียบเทียบกับ 3.5 เท่าในปี 2558 และ 2.9 เท่าในปี 2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทปรับตัวลดลงเล็กน้อยเป็น 9.5% ในปี 2559 จาก 9.9% ในปี 2558 และ 11.9% ในปี 2557

บริษัทมีการระดมเงินทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) มูลค่า 3,605 ล้านบาทในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 บริษัทได้ขายกระแสเงินสดที่จะได้รับจากการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวของโรงไฟฟ้า 2 แห่งให้แก่ BRRGIF ทั้งนี้ บริษัทถือหน่วยลงทุนใน BRRGIF ในสัดส่วนประมาณ 33% หลังการจัดตั้ง BRRGIF บริษัทได้รับเงินสดประมาณ 2,300 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนจะนำเงินดังกล่าวไปใช้ชำระหนี้และขยายการลงทุนในอนาคต การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้จะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 67% ณ สิ้นปี 2560 และบริษัทอาจมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากในเงื่อนไขของกองทุนนั้นบริษัทต้องรับประกันผลการดำเนินงานขั้นต่ำและรับประกันการจัดส่งเชื้อเพลิงให้แก่กองทุนด้วย

การแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่กำลังดำเนินอยู่ได้สร้างความไม่แน่นอนสำหรับการดำเนินงานของผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ของไทยได้อนุมัติในหลักการให้มีการยกเลิกระบบโควต้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คณะทำงานยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณากำหนดรายละเอียดการดำเนินการ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้

ตามสมมติฐานกรณีฐานของทริสเรทติ้ง หากราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศอิงกับราคาส่งออกและหากราคาของน้ำตาลทรายดิบอยู่ในช่วงประมาณ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์แล้ว เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 350-400 ล้านบาทในปี 2561 และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 400-500 ล้านบาทในช่วง 2 ปีข้างหน้า ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลทรายและปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้น บริษัทวางงบลงทุน 400-600 ล้านบาทต่อปีโดยส่วนใหญ่จะใช้ไปในการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายขาวและโรงไฟฟ้าแห่งที่ 4 เมื่อพิจารณาจากสมมติฐานเงินทุนจากการดำเนินงานและงบลงทุนดังกล่าวแล้ว ภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะบริหารหนี้เงินกู้ต่อโครงสร้างเงินทุนซึ่งรวมหนี้จากการก่อตั้งกองทุน BRRGIF ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าวได้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ในช่วง 7%-16% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2-5 เท่าในช่วงปี 2560-2562 สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ บริษัทระดมเงินจากการจัดตั้งกองทุน BRRGIF ได้ราว ๆ 2,300 ล้านบาทซึ่งบริษัทนำไปชำระหนี้เงินกู้ระยะยาวจำนวน 800 ล้านบาท และชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นอีกบางส่วน ทำให้วงเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้จะเพิ่มอีกประมาณ 1,500 ล้านบาท จากที่มีอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2560 วงเงินสินเชื่อสำรองนี้มีจำนวนมากเพียงพอที่จะรองรับการชำระคืนหนี้หุ้นกู้จำนวน 850 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 และหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) จำนวน 660 ล้านบาทที่จะทยอยครบกำหนดชำระใน 6 เดือนข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลไว้ได้แม้ภายหลังการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาล คาดว่าบริษัทจะดำรงสภาพคล่องหรือมีวงเงินสินเชื่อสำรองที่เพียงพอสำหรับรองรับการชำระหนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีการดำเนินงานที่ราบรื่นและจะสร้างกระแสเงินสดเพื่อนำส่งให้กองทุน BRRGIF ได้ตามแผน

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังมีจำกัดในระยะสั้นจากการที่ราคาน้ำตาลทรายยังคงอ่อนแอและการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ยังคงดำเนินอยู่ ความเสี่ยงในการปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทไม่สามารถบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอ หรือหากสถานะทางการตลาดของบริษัทอ่อนแอลงหรือผลประกอบการลดลงจนทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% อย่างต่อเนื่อง การลงทุนโดยการก่อหนี้ต่าง ๆ ซึ่งจะเพิ่มภาระหนี้ รวมทั้งทำให้สถานะทางการเงินอ่อนแอลง และลดความสามารถในการชำระคืนหนี้จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท

บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (BRR)
อันดับเครดิตองค์กร BBB-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BRR17NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ