สศช.เผย Q3/60 การจ้างงานลดลง-อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น ผลกระทบเข้าสู่ยุคดิจิตอล, หนี้ครัวเรือนชะลอลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 7, 2017 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/60 พบว่า รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น การผิดนัดชำระหนี้ลดลง

ในส่วนการจ้างงานลดลง 1.6% โดยภาคเกษตรลดลง 1.2% เนื่องจากได้รับผลกระทบอุทกภัยในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เกิดความเสียหายทั้งด้านพืชประมงและปศุสัตว์ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่การจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลง 1.8% ในสาขาการผลิต การก่อสร้างการขายส่ง และโรงแรมและภัตตาคาร แม้มูลค่าการผลิตภาคนอกเกษตรยังขยายตัวได้ดี แต่การจ้างงานจะลดลง เนื่องจาก (1) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตและดำเนินธุรกิจ และ (2) การส่งออกที่ขยายตัวดีในกลุ่มที่ใช้ทุนเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ขณะที่การส่งออกในกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นยังขยายตัวช้า อาทิ เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ และสินค้าบางประเภทเป็นการทยอยระบายสินค้าในสต๊อค

อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อยเท่ากับ 1.19% ทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและแรงงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน สำหรับผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา 43.4% และ 85% ของคนกลุ่มนี้ใช้เวลาหางานมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน ขณะที่ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนส่วนใหญ่ 65% เป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลายลงมาและหางานมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงที่จะว่างงานก่อนกลุ่มอื่นและจะหางานยากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าสามารถทำงานซ้ำๆ แทนคนได้ ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.1% เป็นการเพิ่มในภาคเกษตรกรรม 2.0% และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 6.0%

ประเด็นด้านแรงงานที่ควรติดตามและให้ความสำคัญในช่วงต่อไป ได้แก่ (1) แนวโน้มการจ้างงานที่มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นภายใต้สถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องและมีการกระจายตัวมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนและการค้าระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ รวมถึงการกระจายการผลิตไปสู่ผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าหรือผลิตรายย่อยมากขึ้น และเกิดการขยายตำแหน่งงาน

(2) การปรับตัวของภาคเกษตรจากแนวโน้มจำนวนแรงงานลดลงแรงงานภาคเกษตรลดลงต่อเนื่องจากที่เคยมีสัดส่วน 42% ของกำลังแรงงาน ในปี 2544 เหลือ 31.2% ในปี 2559 ส่วนใหญ่ 47% อายุมากกว่า 50 ปี โดย 72% มีการศึกษาระดับประถมและต่ำกว่าประกอบกับสภาพการทำงานที่หนักทำให้การทดแทนแรงงานมีน้อย ดังนั้น การปรับตัวของเกษตรกรและแรงงานในภาคเกษตรจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะการเรียนรู้การนำเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการทำงานที่จะลดการใช้แรงงานคนลง ซึ่งในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีหลายอย่างเข้าช่วยในการทำเกษตร อาทิ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการบินฉีดพ่นยาและใส่ปุ๋ย ที่ทำให้ประหยัดแรงงานคน เวลา ปุ๋ยและเคมี รวมถึงเป็นผลดีต่อสุขภาพเกษตรกรในระยะยาว หรือการใช้เทคโนโลยีการพยากรณ์สภาพอากาศที่จะสามารถพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนภายใน 24 ชั่วโมงทำให้เกษตรกรมีการวางแผนการเก็บเกี่ยวเพาะปลูกได้ดีและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

(3) ทักษะแรงงานในตลาดยุคดิจิตอล มีแนวโน้มการนำปัญญาประดิษฐ์ ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ เข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต มาใช้ในการผลิตและการจัดการมากขึ้น โดยเฉพาะในกิจการขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปสู่ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจมีรูปแบบการผลิตและบริการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์และรวบรวมทางสถิติที่มีผลแม่นยำยิ่งขึ้นในธุรกิจการเงินการธนาคารรวมถึงการตลาดการใช้ระบบ Automation ในกระบวนการการผลิต ทำให้บริษัทมีการลดจำนวนแรงงานเหลือเพียงแต่ผู้ควบคุมดูแลเครื่องจักร การเปิดธุรกิจในรูปแบบ E-commerce และธุรกิจบริการในรูปแบบ Online booking and Check-in ที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลต่ออาชีพพนักงานขายและบริการลูกค้าที่ลดลง ขณะเดียวกันความต้องการผู้ดูแลระบบออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้น แรงงานในยุคใหม่จึงจำเป็นต้องมีทักษะสามารถที่ตอบสนองต่องานในรูปแบบใหม่และความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคุณลักษณะและทักษะที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการทำงานในยุคดิจิตอลได้ อาทิ มีความสนใจใฝ่รู้ทันโลกทันเหตุการณ์ คุ้นเคยหรือใช้เทคโนโลยีเป็น สามารถวิเคราะห์และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถทำงานหลากหลาย (Multi-Skill) มีทักษะด้านภาษา รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการทำงาน

ด้านหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ไตรมาส 2/60 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเท่ากับ 11,602,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในอัตราชะลอลง สัดส่วนลดลงเป็น 78.4% ต่อ GDP ในไตรมาส 3/60 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.74% อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้ การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ