“ซีเอ็มเคแอล” ปักธง ม.แห่งยุทธศาสตร์ชาติ รุกจับมือเอกชนชั้นนำ ตอบเศรษฐกิจประเทศ ปี 61 ตั้งเป้าแก้ปัญหา วิจัยและนวัตกรรมขั้นสูง

ข่าวทั่วไป Monday December 18, 2017 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ · "ซีเอ็มเคแอล" เปิดรับองค์กรเอกชน หน่วยงาน ร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ตอบโจทย์ข้อจำกัดและแก้ปัญหาองค์กร ด้วยเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง พร้อมมุ่งเป้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยผลิตองค์ความรู้และบุคลากร สอดรับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ภายใต้การจัดการการศึกษาร่วมระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าพลิกโฉมประเทศไทยก้าวสู่ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ปักธงเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยด้านหุ่นยนต์สมองกล ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาศาสตร์ข้อมูล ความปลอดภัยไซเบอร์ เครือข่ายไร้สาย เมืองอัจฉริยะ พลังงาน และเทคโนโลยีสุขภาพ สอดรับยุทธศาสตร์พัฒนาขีดความสามารถของประเทศ เดินหน้าจับมือองค์กรเอกชนชั้นนำระดับประเทศ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ เครือเบทาโกร หวังนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมขั้นสูง ตอบโจทย์ข้อจำกัดและแก้ปัญหาองค์กรได้อย่างตรงจุด ระบุทิศทางการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย ในปี 2561 และในอนาคต จำเป็นต้องสนับสนุนให้สถาบันการศึกษา ภาครัฐ และเอกชน ทำวิจัยร่วมกัน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย ให้ก้าวหน้าทัดเทียมชาติผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้จากงานวิจัยในสถาบันการศึกษา มาพัฒนาต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ข้อจำกัดและปัญหาของประเทศได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ได้เร่งผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมให้เป็นรูปธรรม ส่งผลให้ภาคการศึกษาต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อสร้างบัณฑิตและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและทักษะสอดรับทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ขณะนี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การขนส่ง และการพัฒนาคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ จึงกล่าวได้ว่าความร่วมมือระหว่าง สจล. กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี คือก้าวสำคัญในการปฏิรูปองค์ความรู้จากรั้วสถาบันการศึกษา สู่ความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งมีงานวิจัยครอบคลุมด้านหุ่นยนต์สมองกล ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาศาสตร์ข้อมูล ความปลอดภัยไซเบอร์ เครือข่ายไร้สาย เมืองอัจฉริยะ พลังงาน และเทคโนโลยีสุขภาพ เป็นต้น เมื่อประกอบกับความพร้อมของ สจล. และองค์กรเอกชนชั้นนำระดับประเทศ อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ เครือ เบทาโกร มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) จึงเสมือนเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยองค์ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตรกรรมที่สอดรับกับปัญหาและข้อจำกัดขององค์กร ขณะที่ในภาพกว้างงานวิจัยเหล่านี้ก็สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้อย่างตรงจุด กล่าวได้ว่าซีเอ็มเคแอลเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งผลิตองค์ความรู้และบุคลากร ให้สอดรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งการจัดการศึกษารูปแบบนี้เป็นโมเดลเดียวกับนานาประเทศ ที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำหน้าประเทศไทยหลายเท่าตัว เกิดจากได้รับการสนับสนุนการทำวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และเอกชน ดังนั้น แนวการยกระดับการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย ในปี 2561 และในอนาคต ควรดำเนินการไปในทิศทางดังกล่าว เพื่อปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับโลกยุคใหม่และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หากมองถึงภาพรวมการส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมและพัฒนาเศรษฐกิจไทย ในส่วนของแผนการดำเนินงานโครงการ EEC ซึ่งจะมีการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเห็นว่าทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้เทคโนโลยีขั้นสูง เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขันให้ยั่งยืน ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพและกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ทว่าปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในขณะนี้คืองานวิจัยส่วนใหญ่ไม่ถูกนำไปพัฒนาต่อยอด หรือที่เรียกว่า "ขึ้นหิ้ง" ที่ผ่านมาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสถาบันการศึกษา จึงไม่ถูกนำไปพัฒนาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนว่าแท้จริงแล้วใช่ว่าคนไทยไม่เก่ง แต่ปัญหาอยู่ที่ความร่วมมือและการมองเป้าหมายที่ต่างกัน ระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และเอกชน "ในยุคที่การพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตรกรรมก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ภาคการศึกษาเอง หรือแม้กระทั่งภาครัฐ จำเป็นต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอนาคต ทุกวันนี้ทุกคนเริ่มตระหนักได้ว่าการพัฒนาประเทศไทยให้แข่งขันกับนานาชาติได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้จากงานวิจัยมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมขั้นสูง นั่นหมายความว่าจากนี้ไปองค์ความรู้ในสถาบันการศึกษา ต้องไม่หยุดนิ่งอยู่แค่ในห้องเรียนแต่จะต้องถูกนำไปพัฒนาต่อยอด ให้เกิดเป็นนวัตกรรมขั้นสูงที่สามารถนำมาแก้ปัญหาขององค์กรและประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้างประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น ตามรูปแบบการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล จะช่วยปฏิรูปเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรมสอดรับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ ดังต่อไปนี้ ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยการมุ่งเน้นศึกษาวิจัยที่มีเป้าหมายในการสร้างรากฐานเศรษฐกิจแบบไทยแลนด์ 4.0 ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ โดยการพัฒนางานวิจัยร่วมด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์?การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ โดยการพัฒนางานวิจัยร่วมในด้านการสร้างพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาดรวมถึงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถจากนานาชาติมาร่วมทำงานวิจัยในไทย พร้อมพัฒนาอาจาย์และนักวิจัยให้เทียบเท่าระดับโลก รวมทั้งผลักดันผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ และยุทธศาสตร์ความมั่นคง โดยการพัฒนางานวิจัยร่วมในด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งนี้ จากต้นแบบความสำเร็จของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน โดยตั้งแต่ปี2554 – 2558 สามารถสร้างบริษัทย่อย (Spin-off) ได้มากถึง 130 แห่ง ก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งโมเดลการเรียนการสอนรูปแบบนี้จะถูกนำมาใช้กับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลเต็มรูปแบบ ศ.ดร.ฮยองคิม ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวเสริมว่า สำหรับภาพรวมหลักสูตรและรูปแบบการเรียนสอน ในปีการศึกษาแรกของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล จะนำร่องเปิดสอน 2 สาขาวิชา คือ "สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์" ในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท และ "สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์" ในระดับปริญญาโท โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการและมาตรฐานเดียวกับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อจบการศึกษาจึงได้ปริญญาบัตรเหมือนกับเรียนที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนทุกประการ และยังได้ปริญญาบัตรของ สจล. ด้วย โดยมีรูปแบบการเรียนการสอน ดังนี้ ระดับปริญญาเอก ระยะเวลาเรียน 5 ปี โดยเรียนในไทย 2 ปี และที่สหรัฐอเมริกา 3 ปี เพื่อมุ่งเน้นคุณภาพของนักศึกษาและอาจารย์ให้เทียบเท่าระดับสากล ซึ่งการใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการเรียนการสอนที่สหรัฐอเมริกาเป็นการดึงดูด นักศึกษาและนักวิจัยที่มีความสามารถจากในประเทศและภูมิภาคอาเซียน เข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์งานวิจัยที่สอดคล้องกับปัญหาและสภาพแวดล้อมของไทย รวมทั้งริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลภายใน 5-10 ปี ทำให้ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีของตนเอง และก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำของภูมิภาค ส่วน ระดับปริญญาโท ระยะเวลาเรียน 2 ปี โดยเรียนในไทย 1 ปี และที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี เพื่อพัฒนาบุคลากรภาครัฐและเอกชนให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาดโลกภายในระยะเวลา 2-3 ปี ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ได้จัดงานประชุมวิชาการ Building Smarter Futures for Thailand 4.0 โดยได้รับเกียรติจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา และแขกมีผู้เกียรติจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และองค์กรเอกชนชั้นนำระดับประเทศ ร่วมพูดคุยหารือแนวทางและโอกาสพัฒนาประเทศ สู่ผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เมื่อเร็วๆ นี้ นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th หรือ www.cmkl.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ